แนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะ การบริหารโครงการทางวิชาการ
PDCA ของโรงเรียนเทศบาล 1 (บางไผ่) อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
ผู้วิจัย นายสุรศักดิ์ สุขหมั่น
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความต้องการ การบริหารโครงการทางวิชาการของผู้บริหาร และเพื่อศึกษาแนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะ การบริหารโครงการทางวิชาการของผู้บริหาร โดยใช้กระบวนการ PDCA ของโรงเรียนเทศบาล 1 (บางไผ่) อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารงานโรงเรียนเทศบาล 1 (บางไผ่) สังกัดเทศบาลตำบลบางไผ่ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร จำนวน 18 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การใช้วงจรคุณภาพ PDCA เป็นแนวทางในการเสริมสร้างสมรรถนะ การบริหารโครงการทางวิชาการของผู้บริหาร และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการพรรณนา ผลการวิจัย พบว่า ความต้องการ การบริหารโครงการทางวิชาการ ของผู้บริหารโดยใช้กระบวนการ PDCA ของโรงเรียนเทศบาล 1 (บางไผ่) อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร คือ โครงการที่ 7 โครงการเสริมการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยี ผู้บริหารมีความต้องการสูงที่สุด และมีผลดำเนินการ ดังนี้ ขั้นที่ 1 Plan (P) ขั้นตอนการวางแผน ด้านวัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทคโนโลยี ควรมีการวางแผนสนับสนุน ด้านวัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษา ให้มีความสอดคล้องกับแผนงานโครงการ และงบประมาณของงานของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การจัดหา การปรับปรุง ด้านวัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทคโนโลยี ต้องมีการจัดทำแผนงานโครงการ ที่สนับสนุนการจัดหา พัฒนา ปรับปรุง ด้านวัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทคโนโลยี เพื่อให้การบริการในงานสื่อ สื่อเทคโนโลยี ของโรงเรียนได้อย่างเพียงพอ ขั้นที่ 2 Do (D) ขั้นการปฏิบัติตามแผน ควรใช้และพัฒนา การจัดหาวัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทค โนโลยี ตามแผนงานโครงการที่ได้รับการจัดสรร ตามระยะเวลาที่กำหนด ควรมีการขึ้นทะเบียนวัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทคโนโลยี การควบคุมการใช้งาน และรายงานผลการพัฒนา ผลการจัดหา ผลการใช้งาน ผลการปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทคโนโลยี และควรคำนึงถึงความประหยัด ความทันสมัย ความปลอดภัยของผู้ใช้เป็นหลัก ขั้นที่ 3 Check (C) ขั้นการตรวจสอบและประเมินแผน ควรมีการจัดทีมตรวจสอบ วัสดุอุปกรณ์สื่อ สื่อเทคโนโลยี ตรวจสอบคุณภาพของสื่อ สื่อเทคโนโลยี เพื่อให้ถูกต้องตามแผน ตรวจสอบตามทะเบียนสื่อ เพื่อการจัดเก็บรักษา การซ่อมแซม และสรุปผลรายงานเพื่อปรับปรุงแก้ไขตามแผนงานโครงการ และขั้นที่ 4 Act (A) ขั้นนำผลจาการตรวจสอบ มาปรับปรุงแก้ไข ควรจัดทีมเพื่อศึกษาการรายงานผล และเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ควรมีบันทึกการรายงานผล และนำผลมาวางแผนโครงการ เพื่อดำเนินการในปีการศึกษาถัดไป