รายงานการวิจัยการบริหารจัดการและการให้บริการด้านความปลอดภัยในโรง
ผู้วิจัย นางสาวอมรา อิ่มศิลป์
ปีที่วิจัย พ.ศ. 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารจัดการและการให้บริการ
ด้านความปลอดภัยในโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม 2) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเป็นแนวทางการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการและการให้บริการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนชัยนาทพิทยาคมต่อไป กำหนดขอบเขตการศึกษาโดยใช้แนวทางปฏิบัติและมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3 ด้าน คือ 1) ด้านระบบการบริหารด้านความปลอดภัยของโรงเรียน 2) ด้านการจัดสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยในโรงเรียน และ 3) ด้านมาตรการและการให้บริการการป้องกันและแก้ไขความปลอดภัยในโรงเรียน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเครซซี่และมอร์แกน ( Krejcie and Morgan ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นเอง จำนวน 5 ฉบับ แบบสอบถามแต่ละฉบับแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 เป็นแบบสำรวจรายการ ( Check list) สอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ 2 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า ( Rating Scale ) ของลิเคิร์ท (Likert Scale) สอบถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการให้บริการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม (Reliability) โดยการหาค่าสัมประสิทธิอัลฟาของครอนบาค (Cronbach) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
การบริหารจัดการและการให้บริการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.01( = 4.01,S.D = 0.72) และเมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน
1. ด้านระบบการบริหารด้านความปลอดภัยของโรงเรียน อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.95 และเมื่อพิจารณาข้อย่อยพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ
2. ด้านการจัดสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัยในโรงเรียน อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.08 และเมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ
3. ด้านการให้บริการตามมาตรการความปลอดภัย อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.01 เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่าอยู่ในระดับมากทั้ง 6 มาตรการ โดยมาตรการป้องกันและแก้ไขด้านสุขภาพอนามัย มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 4.10 และ มาตรการป้องกันและแก้ไขอุบัติภัย มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.94