การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
ชื่อผู้ศึกษา นายเกรียงไกร ราวิชัย ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง สำนักการศึกษา เทศบาลนครเชียงใหม่
ปีที่รายงาน 2562
บทคัดย่อ
งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง (2) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด The Amazing Things Around Me ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และดัชนีประสิทธิผล 0.5 (3) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง และ (4) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด The Amazing Things Around Me ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง
กลุ่มตัวอย่างและกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยมี 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ คือ ผู้บริหาร จำนวน 2 คน ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 1 คน และ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 2 คน (2) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ และประเมินความพึงพอใจของนักเรียน คือ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน (3) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) คือ นักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 3 คน และปีการศึกษา 2560 จำนวน 22 คน รวมทั้งนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล วัดศรีปิงเมือง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 36 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (4) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ และประเมินความพึงพอใจของนักเรียน คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 23 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย
งานวิจัยนี้ดำเนินการตามระเบียบวิธีการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย (1) แบบบันทึก แบบสัมภาษณ์ สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ คู่มือการจัดการเรียนรู้ แบบฝึกทักษะ แบบประเมินความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ค่าประสิทธิภาพ ค่าดัชนีประสิทธิผล ( ) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test (Dependent Samples) ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเนื้อหาวิชาที่ยากต่อการสอนของครู และการทำความเข้าใจของนักเรียน ความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน และการขาดสื่อประกอบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตของนักเรียน ผู้วิจัยจึงได้หาแนวทางแก้ปัญหาโดยพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด The Amazing Things Around Me เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้แบบฝึกทักษะชุด The Amazing Things Around Me เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ ขั้นสร้างการเชื่อมต่อ (Plugging in) ขั้นเสริมพลังการเรียนรู้ (Powering up) ขั้นสังเคราะห์ข้อมูลสร้างความหมาย (Synthesizing) ขั้นใช้แหล่งความรู้ภายนอกสนับสนุน (Outsourcing) และขั้นไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection) ปรากฏในแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผน ใช้เวลาเรียน 20 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.09/87.50 และดัชนีประสิทธิผล 0.7386 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง มีความสามารถใน การอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ หลังการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด The Amazing Things Around Me สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง มีความพึงพอใจต่อ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้แบบฝึกทักษะ ชุด The Amazing Things Around Me เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.69, ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.12)