การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้
เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางอำพร ทะหา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สังกัด โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและข้อมูลพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 75/75 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 4)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียน 5) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียน 6) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนจากรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา อำเภอ ขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 28 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จากทั้งหมด 3 ห้องเรียน ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 75 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) คู่มือและแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 8 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษหน่วยการเรียนรู้ Life style และหน่วยการเรียนรู้ Food and drink ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นแบบทดสอบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 3) แบบประเมินทักษะการพูดภาษาอังกฤษ เป็นแบบทดสอบตอบคำถามปากเปล่า (Oral Interview) จำนวน 10 ข้อ และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนจากรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นลักษณะแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติที และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ได้ข้อสรุปว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ชอบวิชาภาษาอังกฤษ คิดว่าภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ยาก เรียนไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ไม่รู้จะไปพูดกับใครจึงไม่ค่อยสนใจในการเรียน อีกทั้งการสอนของครูก็มุ่งที่ผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับนักเรียนเพื่อใช้ในการสอบเรียนต่อ การจัดการเรียนการสอนจึงไม่ได้เน้นทักษะทางภาษาที่จะเกิดกับนักเรียนเท่าที่ควร ครูผู้สอนภาษาอังกฤษมีความคิดเห็นตรงกันว่าทักษะการพูดเป็นทักษะที่สำคัญในโลกแห่งการสื่อสารปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขและพัฒนาปรับกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนรู้ เปลี่ยนจากการถ่ายทอดความรู้เป็นการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติฝึกทักษะทางภาษาอย่างกระตือรือร้นโดยนำแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุกมาจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียน
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ คือ หลักการและวัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนรู้และการนำรูปแบบไปใช้
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ80.74 /79.76
4. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
5. ผลการประเมินทักษะการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่าหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
6. ผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนจากรูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อส่งเสริมทักษะการพูดภาษาอังกฤษ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x = 4.45, S.D. = 0.60)