รายงานผลการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ โดยใช้กิจกรร
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางสาวสุพร คุ้มตะสิน
สถานที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนวัดไผ่โรงวัว กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาและพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาผลการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ โดยใช้กิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ และ 2) เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์ ด้านดี ด้านเก่ง และด้านสุข ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ โดยใช้กิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชาย - หญิง ชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 ที่กำลังศึกษาอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนวัดไผ่โรงวัว กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 24 คน จาก 1 ห้องเรียน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เนื่องจากเป็นห้องที่ผู้วิจัยเป็นครูประจำชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ โดยใช้กิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างมีจุดหมาย ฝึกให้เด็กคิดแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล โดยใช้กิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพ ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมประสบการณ์ จํานวน 18 แผน 2) หนังสือนิทานประกอบภาพส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยมุ่งเน้นความสามารถของเด็กที่มี ต่อการควบคุมพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึกของตนเองได้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เป็นเด็กดี เด็กเก่ง และมีความสุข ในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งมีจำนวน 9 เล่ม และ 3) แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เพื่อวัดความฉลาดทางอารมณ์ 3 ด้าน คือ ด้านดี ด้านเก่ง และด้านสุข จำนวน 36 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความสอดคล้อง และค่าสถิติ t - test แบบ Dependent
ผลการศึกษาและพัฒนา พบว่า
1. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ โดยใช้กิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพ มีพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์ หลังการจัดประสบการณ์ สูงกว่าก่อน การจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ โดยใช้กิจกรรมการเล่านิทานประกอบภาพ มีพัฒนาการความฉลาดทางอารมณ์ ด้านดี ด้านเก่ง และด้านสุข หลังการจัดประสบการณ์สูงขึ้นกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ทุกด้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้