ประสิทธิผลของการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรีต่อการคิดเชิงบริหาร
ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 3/1 โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลออนใต้
ชื่อผู้วิจัย : นางเจริญวรรณ มงคลจีระอุทัย
ปีที่ทำการวิจัย 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของพัฒนาการและปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ของนักเรียน ก่อนและหลังการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) คือ นักเรียนชั้นอนุบาล 3/1 โรงเรียนเทศบาลตำบลออนใต้ จำนวน 16 คน เป็นเพศชาย 9 คน และเพศหญิง 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ กิจกรรมจังหวะและดนตรีเพื่อพัฒนาความสามารถในการควบคุมกำกับและจัดการตนเองสำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้การสังเกตตามแบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-101) และแบบประเมินปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-102) ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนากิจกรรมจังหวะและดนตรีในการพัฒนาด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียนระดับปฐมวัย และแบบสอบถาม ความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรีในการพัฒนาด้านการคิดเชิงบริหาร ของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ (SPSS) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และใช้สถิติทดสอบค่า (t-test Dependent) ในการทดสอบสมมติฐาน
จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียน ก่อนและหลังการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรี จากผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียนหลังการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรีสูงกว่าก่อนใช้กิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 1 และเปรียบเทียบปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียนก่อนและหลังการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรี จากผลการวิจัยพบว่า ปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียน หลังการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรีน้อยกว่าก่อนใช้กิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 2 ในการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรีกระตุ้นให้เกิดทักษะ Brian Executive Functions เป็นการฝึกทักษะผ่านกิจกรรมจังหวะและดนตรีที่เด็กให้ความสนใจ กระตือรือร้นในการฝึกปฏิบัติด้วยความสนุกสนาน การให้เด็กได้สัมผัสกับรูปแบบของจังหวะ เสียงเพลง ดนตรี การเคลื่อนไหว เข้าจังหวะ เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาความจำ (Working Memory) และความคิดยืดหยุ่น สร้างสรรค์ได้อย่างดี
ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการใช้กิจกรรมจังหวะและดนตรี ในการพัฒนาด้านการคิดเชิงบริหารของนักเรียนโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผู้ปกครองมีความพึงพอใจพัฒนาการด้านความจำขณะใช้งานมากที่สุด รองลงมาคือด้านการวางแผนจัดการ และด้านการควบคุมอารมณ์ ตามลำดับ สามารถอภิปรายได้ว่า กิจกรรมจังหวะและดนตรี พัฒนาให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น สามารถอ่านและจดจำข้อความต่าง ๆ ได้ เด็กมีความสุขกับกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับเพื่อน ๆ