การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐาน
และทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง
จังหวัดยะลา
ผู้วิจัย สุจิตรา หมื่นพวงศ์
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา 2) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา 3) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลในการวิจัย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ตามลักษณะการเก็บข้อมูล ดังนี้ ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารงานวิชาการ ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 4 คน และครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จำนวน 15 คน รวมทั้งสิ้น 19 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อยกร่างรูปแบบการบริหารงานวิชาการ ได้แก่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือรองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จำนวน 3 คน และครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จำนวน 4 คน รวมทั้งสิ้น 7 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 2 ยกร่างรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ 1) ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษารักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จำนวน 3 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ยกร่างรูปแบบการบริหารงานวิชาการให้มีความสมบูรณ์ 2) สอบถามความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ของรูปแบบ จากครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จากการสุ่มตามตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 73 คน 3) การทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการ ในโรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านกาแป๊ะ) เทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ 4) ประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการ โดยประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารงานวิชาการและประเมินทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ ครูผู้สอน โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านกาแป๊ะ) เทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จำนวน 10 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยดำเนินการวิจัยตามแนวคิดการพัฒนารูปแบบ ที่มีขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (Analysis : R1) ขั้นที่ 2 การพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบ (Design and Development : D1) ขั้นที่ 3 การนำรูปแบบการบริหาร งานวิชาการไปใช้ (Implement : R2) และขั้นที่ 4 การประเมินผลและแก้ไข รับรอง และเผยแพร่ (Evaluation : D2) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสอบถามสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารงานวิชาการ 2) แบบวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเพื่อพัฒนารูปแบบ 3) แบบสอบถามความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ของรูปแบบ และ 4) แบบประเมินผลรูปแบบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนในสังกัดเทศบาล
เมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พบว่า ในภาพรวม ระดับการปฏิบัติงานวิชาการในปัจจุบันอยู่ในระดับมากที่สุด ขณะที่ระดับปัญหาการบริหารงานวิชาการ อยู่ในระดับน้อย เมื่อพิจารณาเฉพาะระดับการปฏิบัติงานวิชาการในปัจจุบัน พบว่า ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา มีระดับการปฏิบัติสูงที่สุด รองลงมา คือ ด้านการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา ด้านการวางแผนงานวิชาการ ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา ด้านการพัฒนาและการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และด้านการวัดประเมินผลการเรียนรู้ มีระดับการปฏิบัติต่ำที่สุด เมื่อพิจารณาเฉพาะระดับปัญหาการบริหาร งานวิชาการ พบว่า ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษา มีระดับปัญหาสูงที่สุด รองลงมา คือ ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในและมาตรฐานการศึกษา ด้านการวางแผนงานวิชาการ ด้านการพัฒนาและการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ด้านการวัดประเมินผลการเรียนรู้ ด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และด้านการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา มีระดับปัญหาต่ำที่สุด
2. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการบริหาร งานวิชาการ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พบว่า นโยบายการพัฒนาประเทศและนโยบายการพัฒนาการศึกษามีความสอดคล้องกัน คือ ต้องเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ โดยเร่งพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีคุณลักษณะและทักษะที่สำคัญจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ทั้งทักษะการเรียนรู้ ทักษะการคิด และทักษะชีวิต โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาต้องยกระดับคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ระบบการบริหารจัดการศึกษาต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการวางแผนและออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทุกภาคส่วนของสังคมต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
3. รูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิต
ในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ที่พัฒนาขึ้น มีชื่อว่า “Thinking Skills Factors Learning Model : TSFLM” ประกอบด้วย หลักการ วัตถุประสงค์ เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ และองค์ประกอบการบริหารงานวิชาการ 6 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 (F1) : หลักการสู่เป้าหมาย องค์ประกอบที่ 2 (F2) : วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน องค์ประกอบที่ 3 (F3) : กลไกการดำเนินการงานวิชาการในสถานศึกษา องค์ประกอบที่ 4 (F4) : การปฏิบัติการสอนเพื่อผลของการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 5 (F5) : การตรวจสอบผลการเรียนรู้ และองค์ประกอบที่ 6 (F6) : วิเคราะห์ผลกระทบจากการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิต
ในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผลการตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ของรูปแบบการบริหารงานวิชาการ แบบ “Thinking Skills Factors Learning Model : TSFLM” พบว่า ในภาพรวมมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้านความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารงานวิชาการ แบบ “Thinking Skills Factors Learning Model : TSFLM” พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบ พบว่า องค์ประกอบที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ องค์ประกอบที่ 1 (F1) : หลักการสู่เป้าหมาย รองลงมา คือ องค์ประกอบที่ 6 (F6) : วิเคราะห์ผลกระทบจากการบริหารงานวิชาการ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน องค์ประกอบที่ 5 (F5) : การตรวจสอบผลการเรียนรู้ องค์ประกอบที่ 2 (F2) : วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน องค์ประกอบที่ 4 (F4) : การปฏิบัติการสอนเพื่อผลของการเรียนรู้ และองค์ประกอบที่ 3 (F3) : กลไกการดำเนินงานวิชาการในสถานศึกษา ตามลำดับ ด้านผลการประเมินทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน พบว่า ในภาพรวมนักเรียนมีทักษะพื้นฐานทางการคิดและทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21
อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนแสดงพฤติกรรมในด้านการตระหนักรู้ในตนเองและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่นสูงที่สุด รองลงมา คือ การคิดวิเคราะห์ ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ มีเหตุผล และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การคิดสร้างสรรค์ การสร้างสัมพันธภาพที่ดีและการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ และการจัดการกับอารมณ์และความเครียด ตามลำดับ