การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยการใช้รูปแบบการนิเทศแบบสอนแนะ
และการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาล
เมืองหนองคาย
ผู้วิจัย นางสุชาริณี เอี่ยมคง
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
รายงานวิจัยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยการใช้รูปแบบการนิเทศแบบสอนแนะและการเป็นพี่เลี้ยง (Coaching and Mentoring) ของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองหนองคายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและความต้องการจำเป็นในการบริหารและการจัดการศึกษาพัฒนาและทดลองใช้ระบบและติดตามประเมินผลระบบกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจสภาพและความต้องการจำเป็นประกอบด้วยผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูผู้สอนจำนวน 360 คน กลุ่มเป้าหมายในการทดลองใช้ระบบ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา/ ฝ่ายวิชาการ จำนวน 18 คน ศึกษานิเทศก์ /นักวิชาการศึกษา/ จำนวน 9 คน ครูผู้สอน จำนวน 46 คน และนักเรียนจำนวน 240 คน รวม 303 คน จากสถานศึกษาเป้าหมายจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 1 สว่างวิทยา โรงเรียนเทศบาล 2 ชำนาญอนุเคราะห์ โรงเรียนเทศบาล 3 ยุวฐุณ์บำรุง โรงเรียนเทศบาล 5 มีชัยวิทยา วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลเมืองหนองคาย ตรวจสอบระบบผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามแบบสัมภาษณ์แบบสังเกตและการสนทนากลุ่มการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยายข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหาผลการวิจัยพบว่า
1. องค์ประกอบของระบบมี 4 องค์ประกอบหลักคือ 1) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ บริบทของหน่วยงาน / สถานศึกษาทรัพยากรทางการศึกษาและเครือข่ายความร่วมมือ 2) ด้านกระบวนการ (Process) ได้แก่ การกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพบุคลากรการปฏิบัติงานตามแผนและปรับปรุงงานการนิเทศติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพและการให้ข้อมูลป้อนกลับ 3) ด้านผลผลิต (Output) ได้แก่ ระบบการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพตาม หลักธรรมาภิบาลและ 4) ด้านผลลัพธ์ (Outcome) ได้แก่ ผลที่เกิดกับหน่วยงาน / สถานศึกษาผลที่เกิดกับครูผลที่เกิดกับนักเรียน
2. ผลการพัฒนาและทดลองใช้ระบบพบว่าผลการตรวจสอบคุณภาพของระบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิมีความเหมาะสมและสอดคล้องในการนำไปปฏิบัติการดำเนินตามระบบมีเครือข่ายความร่วมมือ 2 ระดับคือ ระดับหน่วยงานต้นสังกัดและระดับสถานศึกษาที่บูรณาการการทำงานร่วมกันทำให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกมีทักษะและความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านความรู้ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์สูงขึ้น
3. ผลการติดตามประเมินผลระบบ พบว่า ผู้บริหาร / ฝ่ายวิชาการ ศึกษานิเทศก์/นักวิชาการศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากและมากที่สุดและเห็นว่าระบบการบริหารจัดการโดยใช้เครือข่ายความร่วมมือแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่พัฒนาขึ้นมีประโยชน์มีความเหมาะสมมีความเป็นไปได้และมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือในการนำไปใช้จริงระบบมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล