การพัฒนาการอ่านเพื่อความเข้าใจกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นป.5
ผู้วิจัย นางธันยพร เงินโคกกรวด
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค CIRC ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/3 โรงเรียนเทศบาล ๓ (ยมราชสามัคคี) สำนักการศึกษา เทศบาลนครนครราชสีมา ที่กำลังศึกษา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพื้นฐาน ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ กลุ่มสาระการเรียนรู้
ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC พบว่า มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.21/83.13 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนรู้ด้วยแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านเพื่อความเข้าใจ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ที่ 5 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC ในภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก
โดยสรุป การจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นสมควรแนะนำให้ครูผู้สอนนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC ไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุตามความมุ่งหมายของหลักสูตรต่อไป