กิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ผู้วิจัย นางสาวนิตยา ปาปะเขา
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนหัวเรือพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนากิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (2) เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/1 โรงเรียนหัวเรือพิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 25 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 2) แบบวัดทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าที (t-test for dependent samples)
ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีชื่อว่า “CD-CAP” มีหลักสำคัญในการจัดกิจกรรม 4 ด้าน คือ 1) การจัดกิจกรรมแนะแนว 2) การสร้างสรรค์ความรู้ 3) พัฒนาการทางสติปัญญา และ 4) ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ การจัดกิจกรรมบูรณาการ 2 รูปแบบการสอนเข้าด้วยกัน คือ 1) การใช้กรณีศึกษาเป็นฐาน 2) การใช้ปัญหาเป็นฐาน มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) หลักการ เป็นการพัฒนาทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานการสร้างความรู้อย่างเป็นระบบด้วยตนเอง การร่วมมือกันเรียนรู้จากกิจกรรมแนะแนว (2) วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (3) ขั้นตอนการจัดกิจกรรมแนะแนวประกอบด้วย 5 ขั้น คือ (1) ศึกษาข้อมูลและเนื้อหา (Study Information and Content : C) (2) อภิปรายสะท้อนการคิดวินิจฉัยปัญหา (Discussion Reflects Thinking about Diagnose Problems : D) (3) สร้างทางเลือกการแก้ปัญหา (Create Solutions to Problems : C) (4) ลงมือแก้ปัญหา (Take Action to Solve the Problem : A) และ (5) นำเสนอผลงานและรายงานผล (Presenting Results and Reports : P) สำหรับกิจกรรมแนะแนว ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ด้านส่วนตัวและสังคม ด้านการศึกษา และด้านอาชีพ
ผลการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า 1) กิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ (E1/E2) เท่ากับ 81.35/81.70 2) ทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนหลังการใช้กิจกรรมแนะแนวสูงกว่าก่อนการใช้กิจกรรมแนะแนวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ 3) ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อกิจกรรมแนะแนวเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตด้านการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด