ผลการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning)
ผู้วิจัย นางสาวสูใบดะ ทิ้งผอม ตำแหน่ง ครุ วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีทำวิจัย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การรายงานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นสำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ประชากรที่ใช้ในครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) ทั้งหมด 220 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4/1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนผู้เรียน 39 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มกลุ่มห้องเรียนอย่างง่าย (Simple Cluster Random Sampling) ด้วยวิธีการจับสลากห้องเรียนมา 1 ห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 1) แผนการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 20 แผน รวมเวลาเรียนทั้งสิ้น 20 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ด้านความรู้ ความเข้าใจและการนำไปใช้ เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ก่อนเรียนและหลังเรียนแบบเรียงสลับข้อลักษณะแบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ 3) แบบทดสอบวัดความสามารถด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ก่อนเรียนและหลังเรียนแบบเรียงสลับข้อ ลักษณะแบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 24 ข้อ 4) แบบสอบถามความคิดเห็นสำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอน วิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ
ผลการรายงานสรุปได้ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.51/82.53
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ก่อนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ความคิดเห็นสำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เชิงรุก (Active Learning) เรื่อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด