การพัฒนาการอ่านและเขียน โดยใช้รูปแบบคอนสตรัคติวิสต์
เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้ศึกษา นางสาวเอื้องดง แสนตรง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลบ้านไผ่ สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองบ้านไผ่
อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น
ปีที่ศึกษา พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ เพื่อศึกษาค่าประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ค่าดัชนีประสิทธิผลตามเกณฑ์ 70 เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาระดับความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการพัฒนาการอ่านและเขียน โดยใช้รูปแบบคอนสตรัคติวิสต์และบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านไผ่ สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน
32 คน ด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 18 แผน เวลาเรียน 18 ชั่วโมง บทเรียนสำเร็จรูป จำนวน 9 เล่ม แบบทดสอบสัมฤทธิ์ทางการเรียนย่อย 9 ฉบับ ฉบับละ 10 ข้อ และแบบทดสอบประจำหน่วย จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ ค่าดัชนีประสิทธิผล และการทดสอบสมมติฐานด้วยค่า t (แบบกลุ่มไม่อิสระ) ผลการศึกษาปรากฏ ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของการพัฒนาการอ่านและเขียน โดยใช้รูปแบบคอนสตรัคติวิสต์และบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง มาตราตัวสะกด มีค่าเท่ากับ 85.98/84.79 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. ดัชนีประสิทธิผลของการพัฒนาการอ่านและเขียน โดยใช้รูปแบบคอนสตรัคติวิสต์และบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง มาตราตัวสะกด มีค่าเท่ากับ 74.87 สูงกว่าเกณฑ์ 70 แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 74.87
3. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนจากการพัฒนาการอ่านและเขียน โดยใช้รูปแบบคอนสตรัคติวิสต์และบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง มาตราตัวสะกด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจที่มีต่อการพัฒนาการอ่านและเขียน โดยใช้รูปแบบคอนสตรัคติวิสต์และบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง มาตราตัวสะกด โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก รายข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ กิจกรรมที่จัดให้ส่งเสริมทักษะการอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี รองลงมา คือ นักเรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ได้ตามที่กำหนด