การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ เรื่องการอ่านเพื่อพัฒนาการคิด โดยใช้แบบฝึกทัก
ผู้วิจัย นางภัควลัญชณ์ อุปฐาก
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) เทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง
ปีที่ทำการวิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) สำนักการศึกษา เทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ เรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD 3) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4) หาดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนที่เรียนเรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียน เรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 25 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบฝึกทักษะการอ่านเพื่อพัฒนาการคิด 3) แผนการจัดการเรียนรู้จำนวน 10 แผน 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด จำนวน 50 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาประสิทธิภาพ E1/E2 หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสมมุติฐานด้วย t-test (Dependent Sample) และ t-test (lndependent Samples) ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยที่เชื่อมโยงการพัฒนาความสามารถทางการอ่านเพื่อพัฒนาการคิด พบว่า ครูส่วนมากยังขาดการสนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ศักยภาพในการอ่านเพื่อพัฒนาการคิด โดยเฉพาะการคิดอย่างพินิจพิเคราะห์ คิดหาเหตุผล แยกแยะข้อเท็จจริง และการพิจารณาคุณค่าของเรื่องที่อ่าน อีกทั้งชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 ส่วนมากยังมีความสามารถพื้นฐานการอ่านเพื่อพัฒนาการคิดในระดับพอใช้ และต้องการพัฒนาให้มีความสามารถด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก โดยให้มีการพัฒนาแบบฝึกที่มีกิจกรรมหลากหลาย เนื้อหาใกล้ตัวนักเรียน รูปเล่มมีภาพประกอบที่มีสีสันสวยงาม ควรฝึกจากง่ายไปหายาก และเน้นการฝึกแบบกลุ่ม
2. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะ เรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ 86.68/83.44 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านเพื่อพัฒนาการคิด ประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
4. ดัชนีประสิทธิผลของแบบฝึกทักษะประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD มีค่าเท่ากับ 0.6924 ซึ่งแสดงว่า ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น 0.6924 หรือคิดเป็นร้อยละ 69.24
5. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียน เรื่อง การอ่านเพื่อพัฒนาการคิด โดยใช้แบบฝึกทักษะประกอบ การจัดกิจกรรมด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ STAD สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมากที่สุด