รายงานผลการพัฒนาทักษะการพูดภาษาไทยคู่ภาษาถิ่นของเด็กปฐมวัยที่พูด
ด้วยชุดคำคล้องจองประกอบภาพ
ผู้ศึกษา อรพิน วรรณทัย
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบทักษะการพูดภาษาไทยคู่ภาษาถิ่นของเด็กปฐมวัยที่พูดสองภาษา ก่อน ระหว่างและหลังการจัดประสบการณ์ด้วยชุดคำคล้องจองประกอบภาพ และ 2) เพื่อพัฒนาการจัดประสบการณ์ด้วยชุดคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะการพูดภาษาไทยคู่ภาษาถิ่นของเด็กปฐมวัยที่พูดสองภาษา ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษากึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) ผู้ศึกษาใช้กลุ่มทดลองกลุ่มเดียว มีการประเมินก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest Posttest Design) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 3-4 ปี) ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 31 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) ชุดคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะการพูดภาษาไทยคู่ภาษาถิ่นของเด็กปฐมวัย ที่พูดสองภาษา 2) แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้ชุดคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อพัฒนาทักษะการพูดภาษาไทยคู่ภาษาถิ่นของเด็กปฐมวัยที่พูดสองภาษา และ 3) แบบประเมินทักษะการพูดภาษาไทยคู่ภาษาถิ่นของเด็กปฐมวัยที่พูดสองภาษา สำหรับใช้ประเมินก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ด้วยชุดคำคล้องจองประกอบภาพ ที่ครอบคลุมทักษะการพูดภาษาไทย 2 ด้าน ได้แก่ การพูดคำศัพท์ และการพูดเป็นประโยค โดยมีค่าความเชื่อมั่น คือ 0.82 และ 0.84 วิเคราะห์ข้อมูลวิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการศึกษาพบว่า 1. ทักษะการพูดภาษาไทยของเด็กปฐมวัยที่พูดสองภาษา หลังการจัดประสบการณ์ด้วยชุดคำคล้องจองประกอบภาพ สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ โดยมีคะแนนทักษะการพูดภาษาไทย พัฒนาจากระดับพอใช้ เป็นระดับดีขึ้น ทั้ง 2 ด้านได้แก่ ด้านการพูดคำศัพท์และด้านการพูดเป็นประโยค ค่าเฉลี่ย 50.45 คิดเป็นร้อยละ 84.09 2. การจัดประสบการณ์ด้วยชุดคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อพัฒนาทักษะการพูดภาษาไทยคู่ภาษาถิ่นของเด็กปฐมวัยที่พูดสองภาษา มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 86.85/84.09 ถือว่า สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80