การพัฒนารูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกที่ส่งเสริมทักษะการคิด
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์
สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางพัชรินทร์ นิรันดร์พุฒ
ปีการศึกษา 2562
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อหาประสิทธิภาพของการพัฒนารูปแบบการสอนภาษาไทยแบบเชิงรุกที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) ให้เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 และ
3) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมตามรูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกที่ส่งเสริมการทักษะการคิดวิเคราะห์
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑
(เอ็งเสียงสามัคคี) สำนักการศึกษาเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 39 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า 1) ได้รูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) ที่มีองค์ประกอบสอดคล้องและเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โดยมี 3 องค์ประกอบหลักคือ 1.1 แนวคิดของรูปแบบการสอน 1.2 รูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีขั้นตอนการจัดกิจกรรม 4 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หมายถึง ขั้นที่ครูกระตุ้นและเร้าความสนใจให้นักเรียนทบทวนความรู้เดิม แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ และแนะแนวทางในการทำกิจกรรม ขั้นที่ 2 ขั้นลงมือทำ หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมซึ่งทำให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหา มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายและประเมินผลจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนขณะทำกิจกรรม ขั้นที่ 3 ขั้นแลกเปลี่ยนความคิดและสร้างองค์ความรู้ หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และปรับโครงสร้างความรู้ รวมทั้งสรุปความคิดรวบยอด ประเมินผลจากการร่วมอภิปราย การตรวจคำถามและการตรวจใบงาน ขั้นที่ 4 ขั้นสะท้อนและประยุกต์ความรู้ หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนสะท้อนความคิดของตนเพื่อนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และประเมินผลจากการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การเขียนบันทึกประจำวัน 1.3 การนำรูปแบบการสอนไปใช้ 1.4 ผลที่เกิดจากการใช้รูปแบบการสอน 2) ผลการหาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การอ่านคำในภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) ตามเกณฑ์ 80/80 3) ทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบการสอนการอ่านภาษาไทยเชิงรุกที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05