การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์เพื่อพัฒนา
ทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นายอำพล นิรันดร์พุฒ
ปีที่ศึกษา 2562
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ วัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA
2) เพื่อหาประสิทธิภาพของพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) ให้เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) สำนักการศึกษาเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 1 ห้องเรียน ได้แก่ ห้อง ม.1/5 จำนวน 45 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า 1) ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA ที่มีองค์ประกอบสอดคล้องและเหมาะสมอยู่ในระดับมาก โดยมี 3 องค์ประกอบหลักคือ 1.1 แนวคิดของรูปแบบการสอน 1.2 รูปแบบการสอนมี ขั้นตอนการจัดกิจกรรม 4 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นที่ 1 ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หมายถึง ขั้นที่ครูกระตุ้น และเร้าความสนใจให้นักเรียนทบทวนความรู้เดิม แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ และแนะแนวทางในการทำกิจกรรม ขั้นที่ 2 ขั้นลงมือทำ หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรม ซึ่งทำให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย สามารถประเมินผลจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนขณะทำกิจกรรม ขั้นที่ 3 ขั้นแลกเปลี่ยนความคิดและปรับโครงสร้างทางปัญญา หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายในกลุ่ม และปรับโครงสร้างความรู้ รวมทั้งสรุปความคิดรวบยอด ประเมินผลจากการร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิด และการตรวจใบงาน ขั้นที่ 4 ขั้นสะท้อนความคิดและประยุกต์ความรู้สู่ชีวิตประจำวัน หมายถึง ขั้นที่ผู้เรียนสะท้อนความคิดของตนเพื่อนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถประเมินผลจากการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการเขียนบันทึกประจำวัน 1.3 การนำรูปแบบการสอนไปใช้ 1.4 ผลที่เกิดจากการใช้รูปแบบการสอน
2) ผลการหาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 86.74/87.25 ซึ่งมีประสิทธิภาพ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 3) ทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แผนการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทยตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาตามแนวทางประเมินของ PISA หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05