การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจาร
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม
ชื่อผู้วิจัย นางสาวอมรรัตน์ สุวรรณศรี ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย
อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม โดยการวิจัยและพัฒนามี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research : R1) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis : A) เกี่ยวกับแนวทางในการกำหนดและตรวจสอบนิยาม ความสามารถ และพฤติกรรมบ่งชี้ และการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ ในแต่ละด้าน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development : D1) ออกแบบและพัฒนา (Design and Develop : D&D) รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม ขั้นตอนที่ 3 การวิจัย (Research : R2) ทดลองใช้ (Implement : l) รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม และขั้นตอนที่ 4 การพัฒนา (Development : D2) ประเมินผล (Evaluation : E) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จำนวน 23 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือสำรวจข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน ได้แก่ รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 16 แผน ซึ่งมีค่าดัชนีความสอดคล้องของหลังสูตร (IOC) ระหว่าง 0.67 – 1.00 แสดงว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม มีคุณภาพ มีความเหมาะสมในการนำไปทดลองใช้ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน ได้แก่ แบบทดสอบ การเขียนอย่างวิจารณญาณ แบบสังเกตพฤติกรรม และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมีค่าดัชนีความสอดคล้องของรูปแบบการเรียนการสอน (IOC) ระหว่าง 0.67 – 1.00 ดำเนินการเก็บข้อมูลทุกขั้นตอนด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ด้านการเขียนภาษาไทยที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาความสามารถการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ พบว่า นักเรียนยังขาดโอกาสในการสนับสนุนการใช้ศักยภาพในการเขียนเท่าที่ควร โดยเฉพาะวิธีการคิดออกแบบ เนื้อหาและเลือกใช้ข้อความในการเขียนที่มีเหตุผลหรือข้อโต้แย้ง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้ผู้อ่านคิด ด้วยการไตร่ตรองและยอมรับเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและเข้าใจ ทั้งนี้ผู้สอนเห็นว่าการเขียน อย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาพิจารณาดำเนินการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการเขียนอย่างมีวิจารณญาณ ที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ สำหรับผู้เรียนด้านการใช้ภาษา เพื่อการสื่อสารแก่ผู้อื่นที่ถูกต้องและมีคุณค่า ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ที่หลากหลายเพื่อจูงใจและท้าทายการคิดไตร่ตรองพร้อมใช้เหตุผลอ้างอิงของผู้เรียน อีกทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนมากยังมีความสามารถพื้นฐานการเขียนภาษาไทยและการเขียนอย่างมีวิจารณญาณในระดับพอใช้ และต้องการการพัฒนาให้มีความสามารถในด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการ แนวคิด ทฤษฎีพื้นฐาน 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนองและ 6) ระบบสนับสนุน โดยประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ได้แก่ แนวคิดการให้เหตุผล (Reasoning) และ แนวคิดการคิดสะท้อนกลับ (Reflection) การเรียนรู้ความคิดรวบยอด (Concept Learning) และทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ (Constructivist) ทั้งนี้ได้สังเคราะห์ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้เป็น 5 ขั้น ประกอบด้วย 1) ขั้นกําหนดหัวเรื่องและขอบข่ายเนื้อหา 2) ขั้นตรวจสอบความเชื่อมโยงและความรู้ 3) ขั้นวิเคราะห์เหตุผลอ้างอิงและข้อโต้แย้ง 4) ขั้นสะท้อนกลับเพื่อปรับปรุงแก้ไขงานและ 5) ขั้นลงข้อสรุปและประเมินผล
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม พบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถด้านการเขียนอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนและหลังเรียนเท่ากับ 21.68 และ 48.21 ตามลำดับ
4. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม โดยมีวัตถุประสงค์ย่อยดังนี้
4.1 นักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมีความสามารถด้านการเขียนอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนและหลังเรียนเท่ากับ 21.83 และ 48.70 ตามลำดับ
4.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเขียนอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก