การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเทคนิคการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานของครู
ในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
ผู้วิจัย นายสุทธิพันธ์ โสภณสุขกุล
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ
สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเทคนิคการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานของครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โดยใช้วิธีการวิจัยในลักษณะการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยมี 5 กลุ่ม ตามลักษณะของรูปแบบการพัฒนาหลักสูตร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยมีครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ หลักสูตรฝึกอบรมเทคนิคการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานของครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยวิธีการของ KJ. Method ออกแบบพัฒนาเครื่องมือในการวิจัยและหาประสิทธิภาพของหลักสูตรฝึกอบรม นำผลการวิจัยที่ได้ไปประเมินหลักสูตรตามแบบจำลองชิป (CIPP Model) ของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม (Daniel L. Stufflebeam) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation)
การประเมินสภาวะแวดล้อม โดยผู้วิจัยเป็นการรวบรวมข้อมูลความต้องการของครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ตำรา งานวิจัย การวิเคราะห์หลักสูตร และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยมีวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมคือ เพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมทั้งเจตคติของครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ให้มีประสิทธิภาพ เนื้อหาของหลักสูตรประกอบด้วย 8 หัวข้อเรื่องดังนี้ การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐาน หลักสูตร การวิเคราะห์หลักสูตรรายวิชา เทคนิคการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลตามสภาพจริง การเขียนแผนจัดการเรียนรู้ การเขียนรายงานการจัดทำโครงงาน การนำเสนอผลการดำเนินโครงงาน โดยกำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จำนวน 20 คน/รุ่น ใช้เวลาในการฝึกอบรม จำนวน 2 วัน
การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation)
โดยให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินความสอดคล้ององค์ประกอบของหลักสูตร ได้แก่ ความสอดคล้องของหัวข้อฝึกอบรมกับวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม และความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมกับแบบทดสอบ ผลปรากฏว่า ดัชนีความสอดคล้องมีค่าเท่ากับ .92 และ .95 ตามลำดับ ซึ่งความสอดคล้องกันสูง สำหรับการประเมินความคิดเห็นของแบบสอบถามและแบบประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คนที่มีความชำนาญการสอน การพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการวิจัย พบว่า ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด นำหลักสูตรฝึกอบรมพร้อมทั้งเครื่องมือในการวิจัยต่าง ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินความสอดคล้องแล้วไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง โดยหาค่าประสิทธิภาพของหลักสูตรการอบรมเทคนิคการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานของครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโกล-ก จังหวัดนราธิวาส ในขั้นตอนนี้ ปรากฏว่า คะแนนผลสัมฤทธิ์ในการทำแบบฝึกหัดและแบบทดสอบ จำนวน 20 คน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 86.00 และ 83.38 และผลการปฏิบัติ (การเขียนแผนการเรียนรู้) ของผู้เข้ารับการอบรม มีค่าคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80.22 ส่วนค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้ง 8 หัวข้อเรื่อง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ .88 แสดงว่า แบบทดสอบมีค่าความเชื่อมั่นสูงมาก สรุปได้ว่า หลักสูตรนี้สามารถนำไปใช้ฝึกอบรมได้ สำหรับผลการประเมินการฝึกอบรม และวิทยากรฝึกอบรม พบว่า โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation)
ผลการนำหลักสูตรฝึกอบรมไปเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นขั้นตอนในการฝึกอบรมจริงกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 80 คน พบว่า หลักสูตรฝึกอบรมเทคนิคการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานของครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก มีประสิทธิภาพด้านทฤษฎี มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 86.81/83.28 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ และผลการประเมินภาคปฏิบัติของผู้เข้ารับการอบรมมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 87.28 มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ร้อยละ 75 สำหรับผลการประเมินวิทยากรฝึกอบรมโดยผู้วิจัยเป็นผู้ประเมิน พบว่า วิทยากรฝึกอบรมเทคนิคการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐานของครูในสังกัดเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และการประเมินความคิดเห็นของการฝึกอบรมในด้านความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม และการนำความรู้ไปใช้สอนรายวิชาที่มอบหมายหลังจากการฝึกอบรมในขั้นตอนนี้ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผลการประเมินความคิดเห็นที่มีต่อภาพรวมของการจัดการฝึกอบรมในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
การประเมินผลผลิต (Product Evaluation)
การประเมินผลการสอนของครูผู้สอนในรายวิชาที่มอบหมายเข้ารับการอบรมโดยผู้บังคับบัญชา นักศึกษา ที่เรียนรายวิชาที่ผู้เข้าอบรมสอนและคะแนนผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาที่เรียนในรายวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยผลการประเมินการสอนโดยผู้บังคับบัญชา พบว่า ผู้บังคับบัญชามีความพึงพอใจในการสอนภาคทฤษฎีของครูผู้สอนที่สอนโดยรวมอยู่ในระดับดีเลิศ และมีความพึงพอใจผลการสอนภาคปฏิบัติอยู่ในระดับดี สำหรับผลการประเมินความพึงพอใจในการสอนของครูผู้สอนโดยนักเรียน พบว่า ผลการสอนโครงงานทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 88.59