การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูกเพื่อพัฒนาทัก
ชื่อเรื่อง : การจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูกเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี
ชื่อผู้รายงาน : นางอรอนงค์ สังข์หนู ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านน้ำตก องค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่
ตำบลวังใหม่ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
ปีที่รายงาน : 2562
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การรายงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาระดับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี ที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูก 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของของเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี ก่อนและหลังจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูก กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นเด็กเล็ก 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านน้ำตก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังใหม่ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง จำนวน 15 คน ระยะเวลาในการทดลอง 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 40 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูกเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี จำนวน 24 แผน 2) แบบทดสอบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูกเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี โดยใช้รูปภาพเป็นสัญลักษณ์แทนเลขข้อ จำนวน 4 ชุด รวมทั้งหมด 20 ข้อ ใช้แบบแผนการวิจัยแบบ One - Group Pretest - Posttest Design สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการทดลอง พบว่า
1. ระดับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี ที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูก หลังการทดลองเด็กปฐมวัยมีระดับทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์โดยรวมอยู่ในระดับ ดี (= 15.20, = 3.63) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการสังเกต อยู่ในระดับ ดี (= 3.60, = 0.99) ด้านการวัด อยู่ในระดับ ดี (= 3.60, = 1.12) ด้านการจำแนกประเภท อยู่ในระดับ ดี (= 4.00, = 0.85) และด้านการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปสและสเปสกับเวลา อยู่ในระดับ ดี (= 4.00, = 1.07)
2. ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปี หลังจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมการเพาะปลูกโดยรวม พบว่า เด็กปฐมวัยมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น มีค่าผลต่างคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 7.07 คะแนน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า หลังจากได้รับการจัดกิจกรรมการเพาะปลูก เด็กปฐมวัยมีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกต ด้านการวัด ด้านการจําแนกประเภท และด้านการหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปสกับสเปสและสเปสกับเวลา สูงขึ้น โดยมีค่าผลต่างคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 1.47, 1.53, 2.00 และ 2.20 ตามลำดับ ซึ่งทุกด้านสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมกิจกรรมการเพาะปลูก