LASTEST NEWS

28 พ.ย. 2567วิทยาลัยสารพัดช่างตราด รับสมัครพนักงานราชการครู จำนวน 1 อัตรา ตั้งแต่ 19 - 27 ธันวาคม 2567 28 พ.ย. 2567วิทยาลัยเทคนิคเลย รับสมัครพนักงานราชการครู จำนวน 1 อัตรา ตั้งแต่ 6 - 16 ธันวาคม 2567 28 พ.ย. 2567โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน รับสมัครครูอัตราจ้าง เงินเดือน 15,000.-บาท ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. - 1 ธ.ค.2567 28 พ.ย. 2567โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม รับสมัครครูอัตราจ้าง 2 อัตรา เงินเดือน 10,500 บาท ตั้งแต่วันที่ 2-4 ธันวาคม 2567 27 พ.ย. 2567สพฐ.มีหนังสือ ด่วนที่สุด! ให้นำแนวทาง PISA มาใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการสรรหาบุคลากร ทุกตำแหน่ง 27 พ.ย. 2567บอร์ดก.ค.ศ.เคาะร่างแนวปฏิบัติการย้ายครู ผ่านระบบ TRS เตรียมเปิดใช้งาน มกราคม 2568 27 พ.ย. 2567โรงเรียนแคมป์สนวิทยาคม รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาเอกภาษาจีน เงินเดือน 12,000.-บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 1 ธันวาคม 2567 27 พ.ย. 2567ด่วนที่สุด!! ที่ ศธ 04009/ว7543 เรื่อง การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 27 พ.ย. 2567สพฐ. กำชับเขตพื้นที่เร่งคลายทุกข์ลูกจ้าง เดินหน้าพาเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา พร้อมจัดงบประมาณแนวใหม่ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” 26 พ.ย. 2567สพฐ. เข้ม สั่งครูล่วงละเมิดนักเรียนออกจากราชการทันที ย้ำดูแลสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ

VPL-PA Model หรือรูปแบบการเรียนการสอนฟังภาษาอังกฤษ 5 ขั้นตอน

usericon

VPL-PA Model หรือรูปแบบการเรียนการสอนฟังภาษาอังกฤษ 5 ขั้นตอน

VPL-PA Model หรือรูปแบบการเรียนการสอนฟังภาษาอังกฤษ 5 ขั้นตอนนี้ ได้พัฒนาโดย วันเฉลิม นะน่าน. (2563). จากการบูรณาการแนวคิดรูปแบบการสอนฟัง 3 ขั้นตอน (Pre-While-Post Listening) กับ แนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based learning)
การฟังเป็นทักษะทางภาษาทักษะแรกที่เป็นไปตามธรรมชาติของภาษา กล่าวคือ เมื่อมนุษย์เกิดมาทักษะแรกที่มนุษย์นั้นได้พบเจอ คือ ทักษะการฟัง เมื่อมนุษย์ฟังได้แล้วนั้น ทำให้มนุษย์เริ่มมีการสื่อสารหรือความต้องการจะส่งสารไปยังผู้อื่นโดยปรากฏออกมาทางการพูด เช่น การแสดงความคิดเห็นหรือความต้องการนั้น ๆ ดังนั้นทักษะการฟังจึงเป็นด่านแรกที่มนุษย์ต้องมีความเข้าใจ และรับรู้ได้ ฉะนั้นเมื่อพิจารณาตามธรรมชาติของภาษาอย่างแท้จริง จะพบว่า มีการเรียงลำดับธรรมชาติทาง จากการฟัง ไปสู่การพูด การอ่าน และการเขียนตามลำดับ นอกจากนี้การฟังยังถูกนิยามโดย Demirel (2003) ว่าเป็นทักษะของความเข้าใจสารของผู้พูด และเป็นกระบวนการทางจิตวิทยา โดย Engin and Birol (2000) ที่ต้องคำนึงและตั้งใจฟังในระดับของเสียงและจินตภาพของผู้พูดที่สื่อสารออกมา การฟังเป็นกระบวนการเชิงรุก หรือ Active Process ที่ใช้ในการสื่อสาร ประกอบด้วย การรับและการแปลผลของข้อความจากผู้พูด
ทักษะการฟังเป็นทักษะทางภาษาที่มีการวิจัยไว้น้อยมาก และการวิจัยหรือการศึกษาส่วนใหญ่ เป็นเพียงแค่การศึกษาข้อมูลทางทฤษฎี แต่ความจริงแล้ว GULTEN Erkek and Zekerya Batur (2019) ความรู้จากข้อมูลทางทฤษฎีไม่ได้หมายความว่า มนุษย์จะสามารถใช้ความรู้จากทฤษฎีนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในชีวิต
ทักษะการฟังมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก มีงานวิจัย Brent and Anderson (1993) พบว่า มนุษย์ร้อยละ 80 รับรู้ผ่านการฟัง เพราะการฟังเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในทุกๆด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา และนอกจากนี้ ทักษะการฟังยังถูกพิจารณาให้เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ (Dogan, 2016)
การพัฒนาทักษะการฟังจำเป็นจะต้องใช้วิธีการสอน เทคนิค หรือกิจกรรมในห้องเรียนที่หลากหลาย ดังนั้น (วันเฉลิม นะน่าน. 2563) ตระหนักและเห็นความสำคัญของทักษะแรกที่มีมาตั้งแต่กำเนิด คือ ทักษะการฟัง โดยบูรณาการแนวคิดรูปแบบการสอนการฟัง 3 ขั้น (Pre-While-Post Listening) ร่วมกับแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based learning) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟังเพื่อความเข้าใจของผู้เรียน
แนวคิดรูปแบบการสอนการฟัง 3 ขั้น (Pre-While-Post Listening) ประกอบด้วย 1) ขั้นก่อนการฟัง (Pre-listening) การฟังที่ได้ประสิทธิภาพจะสัมพันธ์กับกิจกรรม และความรู้เดิมของผู้เรียน ตัวป้อนที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจและประสบผลสำเร็จนั้นคือการสอนคำศัพท์ หลักไวยากรณ์ หรือโครงสร้างที่เน้นศิลปะในการพูดมากกว่าการโต้ตอบ การออกเสียงคำศัพท์ วลี ประโยค หรือความคิดที่เกี่ยวข้องกับตัวป้อน 2) ขั้นขณะฟัง (While-listening) ในขณะที่ผู้เรียนเริ่มฟังตัวป้อน จำเป็นที่จะต้องคาดเดาการกระทำ หรือในขณะที่ฟังนั้นภาระงานที่นักเรียนได้รับอาจประกอบด้วยการจดบันทึก การเติมความสมบูรณ์ลงในภาพ แผนภาพ หรือตาราง และในขณะที่ฟังผู้สอนต้องสาธิตหรือให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคการฟังอย่างมีความหมายและประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในขณะที่ผู้เรียนฟัง ผู้เรียนต้องคาดเดาเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้พูด และตีความจากสิ่งที่ได้ยิน โดยใช้คำศัพท์สำคัญที่ได้ยินในบริบทนั้น ๆ และ 3) ขั้นหลังการฟัง (Post-listening) เป็นขั้นที่สำคัญเพราะเป็นขั้นที่ให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ และฝึกฝนการฟังให้เกิดความชำนาญ โดยผ่านภาระงานด้านการอ่าน การเขียน การพูด และการมีปฏิสัมพันธ์ หรืออาจให้ผู้เรียนมีการเปรียบเทียบภาระงานหรือการเรียนรู้ร่วมกัน (Michael Rost, 2002)
แนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based learning) หรือ TBL เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่มีความหมาย โดยมีความเชื่อว่า ถ้านักเรียนมุ่งสนใจในความสำเร็จของภาระงานที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของภาษาอย่างแท้จริงจะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาได้ดีกว่าการมุ่งเน้นทางรูปแบบของภาษาหรือโครงสร้างทางภาษา หนึ่งในความเชื่อของแนวคิดนี้ คือ นักเรียนต้องได้รับภาระงานซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติ การเรียนรู้ การลงมือทำ จนงานนั้น ๆสำเร็จ เมื่องานเหล่านั้นสำเร็จ ผู้สอนต้องอภิปรายข้อมูลเกี่ยวกับภาษาว่าใช้แบบไหนในลักษณะใด คู่กับความถูกต้อง และปรับเปลี่ยนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้เรียน แนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐานนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่กล่าวไปข้างต้น Jane Willis (2003) การเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐานมีกระบวนและขั้น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) ขั้นก่อนทำภาระงาน (Pre-task stage) ผู้สอนแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ หัวข้อเรื่อง รวมถึงคำศัพท์ วลี และประโยคต่างๆที่มีความสำคัญในการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจภาพรวมของการเรียนรู้ 2) ขั้นแลกเปลี่ยนภาระงาน (Task cycle stage) ผู้เรียนปฏิบัติงานเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ โดยมีผู้สอนคอยเป็นผู้ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกต่าง ๆอยู่ห่างๆ ผู้เรียนวางแผนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาระงานซึ่งกันและกัน โดยการบอก เล่า รายงาน เขียน หรือเปรียบเทียบภาระงานที่เกิดขึ้น 3) ขั้นมุ่งเน้นทางภาษา (Language focus stage) ผู้เรียนตรวจสอบและอภิปรายรายละเอียดและองค์ประกอบต่าง ๆ จากการฟังหรือการอ่านข้อความในภาระงานของตนเอง ผู้สอนอาจสร้างรูปแบบหรือองค์ประกอบทางภาษาเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน และตรวจสอบความถูกต้องของภาระงาน
จากการจัดการเรียนการสอนฟังภาษาอังกฤษของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ โรงเรียนยางซ้ายพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย พบว่า นักเรียนต่ำกว่าร้อยละ 30 มีปัญหาการฟัง จากข้อมูลแบบสอบถามพบว่า นักเรียนไม่มีวงคำศัพท์พอที่สามารถเข้าใจได้ ไม่คุ้นชินกับสำเนียงของเจ้าของภาษา ขาดการฝึกฝน ซึ่งสอดคล้องกับ Ai-hua Chen (2013) ในงานวิจัย EFL Listeners’ Strategy Development and Listening Problems ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้าใจการฟังนั้น ประกอบด้วย ไม่คุ้นชินกับคำศัพท์ การเชื่อมเสียงของเจ้าของภาษา สำเนียง ขาดความรู้พื้นฐานในการแปลความหมาย Afrafat Hamouda (2013) ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้าใจการฟัง คือ คำศัพท์มีไม่เพียงพอ สำเนียง ความเร็วของการพูด ความกังวล การออกเสียงของเจ้าของภาษา และอุปกรณ์การบันทึกเสียงที่มีคุณภาพต่ำ
วันเฉลิม นะน่าน. (2563). ตระหนักและเห็นความสำคัญและปัญหาของการฟัง จึงสนใจนำแนวคิดรูปแบบการสอนการฟัง 3 ขั้นตอน (Pre-While-Post Listening) และ การเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based Learning) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟังเพื่อความเข้าใจของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนยางซ้ายพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนการฟังเพื่อความเข้าใจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนการสอนทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่
1. ขั้นกระตุ้นคำศัพท์ (Learning to Vocab)
ผู้เรียนจะมีความสามารถในการฟังได้ดี ผู้เรียนต้องถูกกระตุ้นด้วยคำศัพท์ หรือมีคำศัพท์ที่จดจำได้เพียงพอ
2. ขั้นการออกเสียง (Learning to Pronounce)
การออกเสียงหรือสำเนียงของเจ้าของภาษามีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นผู้เรียนจึงต้องถูกกระตุ้นหรือเรียนรู้การออกเสียงและสำเนียง
3. ขั้นขณะฟัง (Learning to Listen)
การฟังที่ดีนั้น ไม่ใช้การแปลทุกคำที่ของมาจากการพูดในแต่ละครั้ง แต่การฟังที่ดีนั้นคือการฟังคำ วลี หรือประโยคที่สำคัญ และคาดเดาเหตุการณ์หรือสถานการณ์จากเรื่องที่ฟังได้
4. ขั้นฝึกฝนการฟัง (Learning to Practice)
การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการฟังมากขึ้น เพราะการฝึกฝนทำให้เกิดความชำนาญ
5. ขั้นการประยุกต์ใช้ (Learning to Apply)
การประยุกต์ใช้ เป็นกระบวนที่ทำให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อเกิดความชำนาญมากยิ่งขึ้น

รูปแบบการเรียนการสอนฟัง และ ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอน ทั้ง 5 ขั้นตอน มีหลักการและแนวคิดมาจาก 2 หลักการและแนวคิด คือ แนวคิดและหลักการของรูปแบบการสอนฟัง 3 ขั้นตอน (Pre-While-Post Listening) กับ แนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based learning) ดังนี้

หลักการของแนวคิดรูปแบบการสอนการฟัง 3 ขั้น (Pre-While-Post Listening)
1. การฟังที่ได้ประสิทธิภาพจะสัมพันธ์กับกิจกรรม และความรู้เดิมของผู้เรียน ตัวป้อนที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจและประสบผลสำเร็จนั้นคือการสอนคำศัพท์ หลักไวยากรณ์ หรือโครงสร้างที่เน้นศิลปะในการพูดมากกว่าการโต้ตอบ การออกเสียงคำศัพท์ วลี ประโยค หรือความคิดที่เกี่ยวข้องกับตัวป้อน
2. ในขณะที่ผู้เรียนเริ่มฟังตัวป้อน จำเป็นที่จะต้องคาดเดาการกระทำ หรือในขณะที่ฟังนั้นภาระงานที่นักเรียนได้รับอาจประกอบด้วยการจดบันทึก การเติมความสมบูรณ์ลงในภาพ แผนภาพ หรือตาราง
3. ในขณะที่ผู้เรียนฟัง ผู้เรียนต้องคาดเดาเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้พูด และตีความจากสิ่งที่ได้ยิน โดยใช้คำศัพท์สำคัญที่ได้ยินในบริบทนั้น ๆ
4. ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ และฝึกฝนการฟังให้เกิดความชำนาญ โดยผ่านภาระงานด้านการอ่าน การเขียน การพูด และการมีปฏิสัมพันธ์

หลักการของแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based learning) หรือ TBL
1. ผู้สอนแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ หัวข้อเรื่อง รวมถึงคำศัพท์ วลี และประโยคต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจภาพรวมของสิ่งที่ฟัง
2. ผู้เรียนปฏิบัติงานเป็นคู่หรือกลุ่มเล็ก ๆ โดยมีผู้สอนคอยเป็นผู้ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกต่าง ๆอยู่ห่างๆ
3. ผู้เรียนวางแผนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาระงานซึ่งกันและกัน โดยการบอก เล่า รายงาน เขียน หรือเปรียบเทียบภาระงานที่เกิดขึ้น
4. ผู้เรียนตรวจสอบและอภิปรายรายละเอียดและองค์ประกอบต่าง ๆ จากการฟังหรือการอ่านข้อความในภาระงานของตนเอง
5. ผู้สอนอาจสร้างรูปแบบหรือองค์ประกอบทางภาษาเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน และตรวจสอบความถูกต้องของภาระงาน



บทคัดย่อ
    การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนฟังภาษาอังกฤษโดยบูรณาการแนวคิดรูปแบบการสอนฟัง 3 ขั้นตอน (Pre-While-Post Listening) กับ แนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based learning) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟังเพื่อความเข้าใจ และศึกษาผลของรูปแบบการเรียนการสอน ประชากร คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนยางซ้ายพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น แบบทดสอบวัดความสามารถในการฟังเพื่อความเข้าใจ และ เอกสารและภาระงานประกอบการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบการเรียนการสอนฟังภาษาอังกฤษที่พัฒนาขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าที (t-test)
    ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นกระตุ้นคำศัพท์ ขั้นการออกเสียง ขั้นขณะฟัง ขั้นฝึกฝนการฟัง และขั้นการประยุกต์ใช้ มีความสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดรูปแบบการสอนฟัง 3 ขั้นตอน (Pre-While-Post Listening) กับ แนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน (Task-based learning) และสามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี และ 2) ความสามารถในการฟังเพื่อความเข้าใจของประชากรที่ศึกษาหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

คำสำคัญ: การสอนฟัง / การเรียนรู้โดยใช้ภาระงานเป็นฐาน / TBL / การสอนฟัง 3 ขั้นตอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^