เผยแพร่ผลงานวิชาการ
ผู้รายงาน : ณัชญ์พิสิษฐ์ สาระลัย
ปีที่ทำวิจัย : 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสอนทัศนศิลป์เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 2) เพื่อศึกษาผลการพัฒนารูปแบบการสอนทัศนศิลป์เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิจัยในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนงัวบาวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 19 คน ที่ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนจัดการเรียนรู้ใช้เวลาแผนละ 1 ชั่วโมง จำนวน 20 แผน 2) แบบทดสอบความสามารถด้าน การคิดวิเคราะห์ จำนวน 30 ข้อ 3) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบทดสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก 30 ข้อ และ 4) แบบวัดความพึงพอใจ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test (Dependent Samples) ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า “R4S Model” มีกระบวนการเรียนการสอน 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 เสนอสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์ (rousing awareness to the problems) ขั้นที่ 2 แสดงเป้าหมายที่ชัดเจน (stating the clear goals) ขั้นที่ 3 แสวงหาข้อเท็จจริง (seeking the truths) ขั้นที่ 4 สะท้อนความคิดอย่างมีหลักการ (showing the understandings) และขั้นที่ 5 สรุปและประเมินผล (summarizing and evaluating)
2. ผลการใช้รูปแบบการสอนทัศนศิลป์เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ สรุปได้ดังนี้
2.1 ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการสอนทัศนศิลป์เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ เท่ากับ 83.62/82.90 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ด้วยรูปแบบการสอนทัศนศิลป์เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.3 ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการสอนทัศนศิลป์เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2.4 ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนทัศนศิลป์เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด