รายงานผลการสร้างและการใช้เอกสารประกอบการเรียน ชุด เศรษฐศาสตร์
ชื่อเรื่อง : รายงานผลการสร้างและการใช้เอกสารประกอบการเรียน ชุด เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
ชื่อผู้รายงาน : นางวรรณพยา นาระต๊ะ
ปีการศึกษา : 2557
รายงานผลการศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพเอกสารประกอบการเรียน ชุด เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนโดย การใช้เอกสารประกอบการเรียน ชุด เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อเอกสารประกอบการเรียน กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/2 โรงเรียนขุนขวากพิทยา อำเภอเวียงแก่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 4 จำนวน 21 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เนื่องจากผู้รายงานปฏิบัติหน้าที่เป็นครูประจำชั้น ได้ดำเนินการ
ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ เอกสารประกอบการเรียน ชุด เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น จำนวน 10 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสอบถามความพึงพอใจและแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียน ชุด เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เปรียบเทียบคะแนนจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการตอบแบบสอบถามความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่าง สถิติที่ใช้คือ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที (t-test dependent samples) พร้อมกับนำเสนอข้อมูลโดยการบรรยายใต้ตารางด้วยความเรียง ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียน ชุด เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น เล่มที่ 1–10 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ยร้อยละ 80/80 ทุกเล่ม โดยภาพรวมได้เท่ากับ 84.43/84.76
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าการทดสอบก่อนเรียนจากคะแนนเต็ม 20 คะแนน โดยมีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 9.95 และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 16.90 คะแนน และคะแนนความก้าวหน้าเท่ากับ 6.95 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 34.76
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/2 ที่มีต่อเอกสารประกอบการเรียน พบว่าในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยของระดับความพึงพอใจ อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 2.89, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.16)