รายงานการใช้แบบฝึกทักษะ เรื่องเศษส่วน โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่องเศษส่วน ด้วยเทคนิค STAD ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกทักษะ เรื่องเศษส่วน ด้วยเทคนิค STAD (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการใช้แบบฝึกทักษะทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องเศษส่วน โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ ด้วยเทคนิค STAD
กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 30 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย (1) แบบฝึกทักษะ เรื่องเศษส่วน จำนวน 4 เล่ม (2) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะ เรื่องเศษส่วน จำนวน 20 แผน รวมเวลา 20 ชั่วโมง (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การเรียนจำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีความยากง่ายระหว่าง 0.23 – 0.72 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.20-0.85 และความเชื่อมั่น KR20 = 0.82 (4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการรู้ โดยใช้แบบฝึกทักษะ เรื่องเศษส่วน จำนวน 20 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นโดยคำนวณ สัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ 0.96 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test dependent sample)
ผลการศึกษา พบว่า
1) แบบฝึกทักษะทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องเศษส่วน ด้วยเทคนิค STAD ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 83.26/82.53 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ใช้แบบฝึกทักษะ เรื่องเศษส่วน ด้วยเทคนิค STAD หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความพึงพอใจต่อการใช้แบบฝึกทักษะทางการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่องเศษส่วน โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกันเรียนรู้ ด้วยเทคนิค STAD ในระดับมากที่สุด