นางธนพัต อาทิตย์ตั้ง
เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓
ผู้วิจัย นางธนพัต อาทิตย์ตั้ง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา ๒๕๖๑
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ ๑) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการ สำหรับการพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ ๒) พัฒนาแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๓) หาค่าดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ ๔) เปรียบเทียบความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ ระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ ๕) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ ที่มีต่อการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ ระยะที่ ๑ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ได้แก่ ครูประจำชั้นอนุบาลปีที่ ๓ จำนวน ๘ คน ระยะที่ ๒ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓/๓ ภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ โรงเรียนเทศบาล ๓ ห้าธันวาคม สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร จำนวน ๓๐ คนซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้วิธีการ
จับสลาก และใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม (Sampling Unit) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ๑) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๓ ๒) แบบประเมินแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ๓) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ จำนวน ๒๘ แผน ๔) แบบทดสอบวัดความพร้อมทางคณิตศาสตร์ จำนวน ๒๘ ข้อ ค่าความยากง่าย ตั้งแต่ ๐.๓๗ - ๐.๖๗ ค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ ๐.๒๑ - ๐.๗๗ และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๖ และ ๓) แบบวัดความพึงพอใจ จำนวน ๑๐ ข้อ มีอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ ๐.๓๓ - ๐.๗๙ และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๘๓ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ พบว่า
๑) การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ มีการจัดกิจกรรมด้วยการเล่น การ
แสดงออก และการปฏิบัติจริง ๒) การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดในชั้นเรียนมุ่งสนองตอบความต้องการ ความสนใจ ความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยให้นักเรียนได้กระทำและเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ๓) กระบวนการที่ช่วยส่งเสริมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ คือการจัดกิจกรรมด้วยการพัฒนาด้านสติปัญญาของนักเรียน ๔) การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ ควรจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์สำหรับพัฒนาสติปัญญาด้านต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความสามารถทางสติปัญญาที่ตนเองถนัดและสนใจ
๒. แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ ๘๔.๔๗/๘๓.๘๑ ซึ่งถือว่า แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ที่ตั้งไว้
๓. ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ มีค่าเท่ากับ ๐.๗๕๙๗ซึ่งแสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนคิดเป็นร้อยละ ๗๕.๙๗
๔. นักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ มีความพร้อมทางคณิตศาสตร์เฉลี่ยหลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๕. นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ ๓ มีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญาเพื่อพัฒนาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก