การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติ
ผู้วิจัย พิมพ์พิชชา ทองเพิ่ม
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติ ด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง 2) ออกแบบและพัฒนาหาประสิทธิภาพรูปแบบการเรียนการสอน 3) เปรียบเทียบความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอน 4) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล ๒ (บ้านหาดใหญ่ ) จังหวัดสงขลา จำนวน 34 คน โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้วิจัย ประกอบด้วย (1) แผนการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติ ด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง (2) แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง ก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่อง การเขียนร้อยกรองกาพย์ยานี11 (3 )ชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น (4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่า ที แบบไม่อิสระต่อกัน (t– test Dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1.ข้อมูลพื้นฐานและความต้องการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง หลักสูตรต้องการให้สถานศึกษาจัดกิจกรรมการเรียนรู้เน้นให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญและใส่ใจในการจัดการเรียนการสอนที่ใช้กระบวนการ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง มุ่งปฏิรูปการเรียนรู้ โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ยึดหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นพลังความคิดสร้างสรรค์ การสร้างนิสัยรักการอ่านและการเขียน และใส่ใจการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องได้เรียนรู้สู่การนำไปใช้ในชีวิตจริง ผู้บริหาร ครู มีความเห็นตรงกันว่า รูปแบบ เทคนิค วิธีการ และสื่อการเรียนการสอนที่ดีและเหมาะสม มีความจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนสนใจและตั้งใจเรียนเพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนให้นำเอาวรรณกรรมท้องถิ่นมาใช้ประกอบในการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนได้เห็นคุณค่า อนุรักษ์และสืบทอดวรรณกรรมท้องถิ่นต่อไป นักเรียนต้องการให้การจัดการเรียนการสอนของครูมีกิจกรรมที่เน้นกระบวนการฝึกปฏิบัติ ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
2. การออกแบบและพัฒนาหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง ได้รูปแบบการเรียนการสอน PLAP Model โดยมีส่วนประกอบ ดังนี้ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน เนื้อหาสาระการเรียนรู้ สิ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุน การเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง เงื่อนไขในการนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ ได้รูปแบบการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการเรียนการสอนโดยมีประสิทธิภาพ (E1 / E2) เท่ากับ 87.03 / 86.69 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
3. การเปรียบเทียบความสามารถด้านการเขียนร้อยกรองของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติ ด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง มีคะแนนความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง เรื่องการเขียนร้อยกรองกาพย์ยานี11 ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ .05
4. การประเมินผลความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติด้วยชุดกิจกรรมสืบสานวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง นักเรียนมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยรวม 4.65 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.18
คำสำคัญ: รูปแบบการเรียนการสอน/ การเขียนแบบเน้นกระบวนการปฏิบัติ/ชุดกิจกรรม/ วรรณกรรมท้องถิ่น /ความสามารถด้านการเขียนร้อยกรอง