การพัฒนารูปแบบการสอน 7 ขั้น (7E) วิทยาศาสตร์ ม.1
7 ขั้น (7E) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย สิริพร พัวเจริญ
ปีที่ทำวิจัย 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุปรางค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) ออกแบบและพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการตามกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development)
แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์และสภาพการจัดการเรียนการสอนความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ของครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี และศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบและพัฒนารูปแบบการสอนและเอกสารประกอบรูปแบบการสอน โดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 และทดลองนำร่องเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้กับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการสอนโดยนำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 40 คน ขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลรูปแบบการสอนโดยสอบถามความพึงพอใจของครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี โรงเรียนละ 1 คน รวม 5 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ครูผู้สอน เน้นเนื้อหาสาระทางความรู้มากกว่าทักษะกระบวนการ นักเรียนไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมและฝากการแก้ปัญหาร่วมกันได้น้อยมาก นักเรียนไม่ได้ใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มศักยภาพ ไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ไม่มีอิสระในการตัดสินใจในการตอบคําถามและการสร้างความรู้ด้วยตนเอง และพบว่านักเรียนเบื่อหน่ายบรรยากาศในการเรียนรู้ ต้องการให้ครูปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนหรือวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้น่าสนใจ ส่วนการสัมภาษณ์ครูผู้สอนเกี่ยวกับสภาพการจัดการเรียนการสอนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ของครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี พบว่า นักเรียนมีทักษะการแก้ปัญหาค่อนข้างต่ำ นักเรียนจบชั้นประถมศึกษามาจากหลากหลายโรงเรียน มีทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างกัน นักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุปัญหา ตลอดจนไม่สามารถเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายได้ ส่งผลให้บรรยากาศในการเรียนน่าเบื่อหน่าย ครูผู้สอนใช้เนื้อหาในการเรียนการสอนจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ผู้สอนไม่ได้ออกแบบกระบวนการจัดการเรียนการสอนด้วยตนเอง แต่ยังคงรูปแบบเดิม ๆ ได้แก่ ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นกิจกรรม และขั้นสรุป ด้านสื่อและแหล่งเรียนรู้ครูผู้สอนยึดเอกสารประกอบการสอนเป็นหลัก เช่น ใบงาน แบบฝึกหัด สำหรับการวัดผลและประเมินผลจะมีการวัดผลตามมาตรฐานตัวชี้วัดในหลักสูตรจากการทดสอบเป็นหลัก ผลการศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวข้อง พบว่าการสอนโดยใช้สมองเป็นฐาน เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนนำเอาการทำงานหรือธรรมชาติการเรียนรู้ของสมองมาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง รู้จักฝึกฝน ศึกษาค้นคว้า สร้างองค์ความรู้หรือผลงานบนพื้นฐานของการคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างความรู้ เกิดความจำและนำไปสู่ความสามารถในการใช้เหตุผลและการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ส่วนการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การพัฒนาความคิดและความสามารถโดยอาศัยประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ครูจะจัดการเรียนการสอน จะต้องตระหนักว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นด้วยตัวของนักเรียนเอง การเรียนรู้เรื่องใหม่จะมีพื้นฐานมาจากความรู้เดิม ฉะนั้นประสบการณ์ของนักเรียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง กระบวนการที่นักเรียนจะต้องสืบค้นเสาะหาสำรวจตรวจสอบและค้นคว้าด้วยวิธีการต่าง ๆ จะทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและเกิดการรับรู้นั้นอย่างมีความหมาย จึงสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้ของนักเรียนเองและเก็บเป็นข้อมูลในสมองได้อย่างยาวนาน สามารถนำมาใช้ได้เมื่อมีสถานการณ์ใด ๆ มาเผชิญหน้า
2. รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้น คือ รูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2)วัตถุประสงค์ 3)เนื้อหา 4) กระบวนการจัดการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมความพร้อม (Preparation : P) ขั้นปฏิบัติ (Action : A) ขั้นสร้างความรู้ (Construction : C) ขั้นขยายความรู้ (Extension : E) ขั้นประเมินผล (Evaluation : E) และ 5) การวัดและประเมินผล การตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่ามีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.60 , S.D. = 0.09) ผลการทดลองนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้พบว่า รูปแบบการสอนมีประสิทธิภาพเท่ากับ 80.57/80.50 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และยังพบว่ากิจกรรมตามกระบวนการการเรียนการสอนของรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นมีระบบเป็นขั้นตอน สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่อง
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนพบว่า ความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนด้วยรูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการสอนโดยรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก ( = 4.44, S.D. = 0.04)
4. ผลการประเมินผลรูปแบบการสอน พบว่า ครูผู้สอนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการสอนโดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการสอนแบบวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น (7E) โดยรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ( = 4.94, S.D. = 0.05)