การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ
ผู้วิจัย นางสาวอังคณา เบ็ญโส๊ะ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยงานที่สังกัด โรงเรียนเทศบาล ๑ (ชุมชนบ้านอุดมทอง)
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลพะตง จังหวัดสงขลา
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกิดแก่นักเรียน ครูผู้สอนควรใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนให้หลากหลายวิธี เพื่อพัฒนานักเรียนให้เกิด การเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC เป็นวิธีจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสองรูปแบบที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอนที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านการเรียนการสอนด้านการอ่านจับใจความ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) หาดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC 3) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC ระหว่างก่อนและหลังเรียน และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ชุมชนบ้านอุดมทอง) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลพะตง จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน ได้มาจากการสุ่มห้องเรียนด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) แบบจับลาก โดยมีห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC จำนวน 12 แผน รวม 16 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่าน จับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 40 ข้อ ซึ่งมีความยากง่าย (P) อยู่ระหว่าง 0.31–0.80 ค่าอำนาจจำแนก (B) อยู่ระหว่าง 0.20–0.82 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.91 และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 16 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.92 สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ CIRC มีค่า E1/E2 เท่ากับ 82.17/81.83 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ CIRC มีค่าเท่ากับ 0.6960 แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนรู้ร้อยละ 69.60
3. ผลการเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือแบบ CIRC หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านจับใจความ โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ CIRC มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X ̅= 4.66, S.D. = 0.51)