การพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
โดยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางทิพาภรณ์ สงเคราะห์
โรงเรียน อนุบาลปราจีนบุรี
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมาย เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 เปรียบเทียบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ต่อการเรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนอนุบาลปราจีนบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1 จำนวน 39 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Unit Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา แบบประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบประเมินทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ t-test for Dependent Samples
ผลการวิจัย พบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ 78.67/77.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 75/75
2. นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน เมื่อเรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน เมื่อเรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน เมื่อเรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
5. นักเรียนมีความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ต่อการเรียนโดยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา เรื่อง เสียงกับการได้ยิน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ในระดับมากที่สุด