การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี
ด้านการอ่านเข้าใจ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก
ผู้วิจัย นางจงกล ชินเสนา ตำแหน่ง วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ 2) สร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษ เพื่อความเข้าใจ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/5 จำนวน 42 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบวิเคราะห์เอกสาร รูปแบบการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 12 แผน แบบทดสอบการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ และแบบวัดเจตคติที่มีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 30 ข้อ เก็บรวบรวบข้อมูลโดยการวิเคราะห์เอกสาร ประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ทดสอบการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ และสอบถามเจตคติที่มีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ได้แก่ 1) ทฤษฎีพัฒนาการเชาวน์ปัญญาของไวกอทสกี หลักการพื้นฐานของวิธีสอนประกอบด้วย (1) ผู้เรียนเป็นผู้ที่ลงมือกระทำ (Active) และจะต้องมีส่วนในการเรียนรู้ (2) การเรียนรู้ทุกชนิด เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ถือว่าสังคมเป็นแหล่งสำคัญของการเรียนรู้ และพัฒนาการเชาวน์ปัญญา (3) ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้ดีและมากขึ้นถ้าหากมีคนช่วย (4) ผู้เรียนทุกคนมี “The Zone of Proximal Development” หรือขอบเขตบริเวณความใกล้เคียงพัฒนาเชาวน์ปัญญาของผู้เรียน (5) การพูดอย่างรู้คิดภายในหรือการคิดในใจ (Inner Speech) มีความสำคัญในการเรียนรู้ 2) ทฤษฎีโครงสร้างความรู้และความเข้าใจในการอ่าน เชื่อว่า ความเข้าใจในการอ่านจะเกิดขึ้นต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้ (1) ความรู้ทางภาษา (2) ประสบการณ์ความรู้ทั่วไป (3) ความสมบูรณ์ของเนื้อเรื่อง (4) โครงสร้างของข้อเขียน
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน (Introduction the Wh – question) ขั้นที่ 2 ขั้นก่อนการอ่าน (Pre – reading) ขั้นที่ 3 ขั้นระหว่างการอ่าน (While – reading) ขั้นที่ 4 ขั้นหลังการอ่าน (Post – reading) ขั้นที่ 5 ขั้นสรุป (Conclusion) หรือเรียกว่า IP-WP-C MODEL และผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก พบว่าแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ มีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.73/87.14 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ มีค่าเท่ากับ 0.7233หรือนักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนคิดเป็นร้อยละ 72.33
4. ผลการประเมินและปรับปรุงการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีไวกอทสกี เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก พบว่า นักเรียนมีเจตคติต่อการเรียนภาษาอังกฤษ โดยรวมอยู่ในระดับมาก
ขอขอบคุณทุกทา่นที่เข้ามาเยี่ยมชมค่ะ