รายงานการพัฒนาชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
ผู้ศึกษา นางสุกัญญา เริงสมุทร
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเกาะยาว ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา ประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 จำนวน 25 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 จำนวน 25 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนเกาะยาว ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพังงา จำนวน 25 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต จำนวน 10 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 22 แผน และแบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 1 ชุด วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ ค่าประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ความแตกต่างโดยใช้ค่า t-test (Dependent Samples) ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการหาประสิทธิภาพชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 83.38/91.44 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 เป็นไปตามสมมติฐานข้อที่ 1
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนก่อนและหลังการเรียนรู้โดยใช้ชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา พบว่า หลังการเรียนรู้มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อชุดการเรียนรู้ เรื่อง ความปลอดภัยในชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับความพึงพอใจมาก