เผยแพร่ผลงานวิชาการ
การจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุชั้นเตรียมอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 3-4 ปี)
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสระปทุม
ผู้ศึกษา นางชนุตพร มีบุญมาก
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการพัฒนาพฤติกรรมทางด้านสังคมระหว่างการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุเพื่อพัฒนาพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย ในภาพรวมและรายพฤติกรรมทั้ง 4 ด้าน และเพื่อการศึกษาผลการเปรียบเทียบพฤติกรรมทางด้านสังคมก่อนและหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุเพื่อพัฒนาพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยในภาพรวมและรายพฤติกรรมทั้ง 4 ด้าน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้เป็นเด็กปฐมวัย ชาย หญิง ที่มีอายุระหว่าง 3 – 4 ปี ศึกษาอยู่ชั้นเตรียมอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสระปทุม สังกัดเทศบาลตำบลปทุมรัตต์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 16 คน ซึ่งมีวิธีดำเนินการศึกษา ดังนี้ ทำการสังเกตพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย ก่อนการจัดกิจกรรมโดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย ที่ผู้ศึกษาได้สร้างขึ้น แล้วดำเนินการจัดกิจกรรมตามคู่มือการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุ จนครบ 10 สัปดาห์ จึงทำการสังเกตพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยหลังการจัดกิจกรรมโดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยชุดเดิมกับที่ใช้ในครั้งแรก โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบไปด้วย คู่มือการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุ จำนวน 30 กิจกรรม แผนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุ จำนวน 30 แผน และแบบสังเกตพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ค่าเฉลี่ย (µ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( ) และค่าร้อยละโดยเปรียบเทียบพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย
ผลการศึกษาพบว่า
1. พฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยทั้งรายพฤติกรรมและในภาพรวมระหว่างการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุ ชั้นเตรียมอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 3-4 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสระปทุม มีผลการพัฒนาที่สูงขึ้นทุกสัปดาห์ จากการประเมินสัปดาห์ที่ 1-10 ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีคะแนนเฉลี่ย 1.60, 2.58, 2.60, 2.69, 2.79, 2.81, 2.90, 2.98, 3.00, 3.00 ด้านการแบ่งปันวัสดุอุปกรณ์มีคะแนนเฉลี่ย 1.63, 2.60, 2.67, 2.67, 2.71, 2.79, 2.83, 2.90, 3.00, 3.00 ด้านการช่วยเหลือเพื่อนมีคะแนนเฉลี่ย 1.58, 2.54, 2.65, 2.69, 2.69, 2.73, 2.79, 2.92, 3.00, 3.00 และด้านการเป็นผู้นำและผู้ตามมีคะแนนเฉลี่ย 1.56, 2.52, 2.58, 2.65, 2.75, 2.77, 2.86, 2.96, 3.00, 3.00 และในภาพรวมทั้ง 4 ด้าน จากการประเมินสัปดาห์ที่ 1-10 มีผลการพัฒนาที่สูงขึ้นทุกด้านตามลำดับ แสดงว่าพฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยในช่วง 10 สัปดาห์มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตามลำดับ
2. พฤติกรรมทางด้านสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยหลังการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุ มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ด้วยวัสดุ คือ ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น หลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 56.25 ด้านการแบ่งปันหลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 54.17 ด้านการช่วยเหลือหลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 52.08 ด้านการเป็นผู้นำและผู้ตาม หลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมโดยมีค่าความแตกต่างที่ร้อยละ 58.33 และในภาพรวมก่อนการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยรวม 1.35 คิดเป็นร้อยละ 44.79 หลังการจัดกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยรวม 3.00 คิดเป็นร้อยละ 100 และมีค่าความแตกต่างเฉลี่ยรวม 1.66 คิดเป็นร้อยละ 55.21 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้