การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้โรงเรียนเบ็ตตี้ดูเมน 2 ช่องเม็ก
เศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน โรงเรียนเบ็ตตี้ดูเมน 2 ช่องเม็ก
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ผู้วิจัย นายประเสริฐ จูมลี
หน่วยงาน โรงเรียนเบ็ตตี้ดูเมน 2 ช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการพัฒนาครูโรงเรียนเบ็ตตี้ดูเมน 2 ช่องเม็ก ให้มี
ความรู้ความเข้าใจในด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน ในวงรอบที่ 1 และเพื่อพัฒนาครูโรงเรียนเบ็ตตี้ดูเมน 2 ช่องเม็ก ให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน ในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน การนิเทศภายในและการนิเทศแบบคลินิก ซึ่งการดำเนินการพัฒนาได้ใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยดำเนินการพัฒนาเป็น 2 วงรอบ กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 40 คน คือ ผู้วิจัย และครูผู้สอน จำนวน 39 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 155 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน วิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี จำนวน 2 คน ศึกษานิเทศก์จากสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี 1 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 โดยการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 150 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบทดสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกการนิเทศภายใน และแบบบันทึกการประชุม การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิคการตรวจสอบแบบสามเส้า(Triangulation Test) และสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
วงรอบที่ 1 ผลการวิจัยพบว่า การใช้กลยุทธ์ชี้นำตนเอง การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและการศึกษาดูงาน สามารถช่วยให้ผู้ร่วมวิจัยรู้จักตนเอง รู้จักวิธีการวิเคราะห์ความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานของตนเอง สามารถกำหนดวิธีการเรียนรู้ของตนเอง มีความพึงพอใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจแนวทางการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยตามลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น โดยผลคะแนนการทดสอบก่อนการอบรมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 15.46 และ คะแนนเฉลี่ยหลังการอบรมเท่ากับ 27.38 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.54 เป็นร้อยละ
91.71 การประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้ร่วมวิจัย มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์คุณภาพระดับมากที่สุด
วงรอบที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า กลยุทธ์การนิเทศภายในและการนิเทศแบบคลินิก ช่วยให้ผู้ร่วมวิจัยสามารถจัดรูปแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยตามลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมกับนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและมีคุณลักษณะนิสัยตามลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น