รายงานผลการใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก ฯ
กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับเด็กชั้นปฐมวัยปีที่ 2
(อายุ 4 – 5 ปี)
ผู้วิจัย ปิยรัตน์ นิรันเรือง
สังกัด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยนาง สังกัดเทศบาลตำบลห้วยนาง
อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
รายงานผลการใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับเด็กชั้นปฐมวัยปีที่ 2 (อายุ 4 – 5 ปี) มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อศึกษาผลการใช้แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับเด็กชั้นปฐมวัยปีที่ 2 (อายุ 4 – 5 ปี) โดยให้เด็กจำนวนไม่น้อยกว่า 80 มีคะแนนการทดสอบแบบวัดทักษะทางสังคมตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กชาย - หญิง ที่มีอายุระหว่าง 4 – 5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปฐมวัยปีที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยนาง สังกัดเทศบาลตำบลห้วยนาง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง จำนวน 18 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก โดยใช้กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับเด็กชั้นปฐมวัยปีที่ 2 (อายุ 4 – 5 ปี) 2) การละเล่นพื้นบ้าน จำนวน 20 เรื่อง ได้แก่ เป่ายิงฉุบ, ปืนก้านกล้วย, ทอยเส้น, จ้ำจี้, ขี่ม้าก้านกล้วย, ดาบทางมะพร้าว, งูกินหาง, กระโดดยาง, ตีลูกล้อ, ขี่ม้าส่งเมือง, แข่งเรือบก, ซ่อนหา, เก้าอี้ดนตรี, เป่ากบ, เดินกะลา, กาฟักไข่, รีรีข้าวสาร, กระโดดเชือกเดี่ยว, มอญซ่อนผ้าและลูกข่าง 3) แบบวัดทักษะทางสังคม สำหรับเด็กชั้นปฐมวัยปีที่ 2 จำนวน 20 ข้อ แบ่งการประเมินออกเป็น 4 ด้าน คือ การปฏิบัติต่อระเบียบวินัยของตนเองและกลุ่ม การแสดงออกและแก้ปัญหาในกลุ่ม การมีส่วนร่วมในกลุ่มและการช่วยเหลือผู้อื่น ผลการวิจัย พบว่า ผลการทดสอบวัดทักษะทางสังคม ของเด็กชั้นปฐมวัยปีที่ 2 (อายุ 4 – 5 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยนาง สังกัดเทศบาลตำบลห้วยนาง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง จำนวนทั้งหมด 18 คน มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 17.11 คิดเป็นร้อยละ 85.56 มีจำนวนเด็กผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 88.89 ของจำนวนเด็กทั้งหมด ซึ่งผลการพัฒนาสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้