รูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการสถานศึกษา
โรงเรียนบ้านบะแค โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ผู้วิจัย นายธานินทร์ เลิศพันธ์
ปีที่วิจัย 2562
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านบะแค ตำบลแวงใหญ่ อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพการณ์และสภาพปัจจุบันการบริหารจัดการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น 2) เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และ 3) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้สร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 34 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจำนวน 58 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์เชิงลึกการสนทนากลุ่มจากผู้ร่วมวิจัยและแบบสอบถาม ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพได้แก่การพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลจากการศึกษาสภาพการณ์และสภาพปัจจุบันการบริหารจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาโรงเรียนบ้านบะแค ในการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านบะแค โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนำข้อมูลจากการศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ มาใช้การประกอบการกำหนดร่างรูปแบบซึ่งได้ร่างรูปแบบการมีส่วนร่วมใน 4 ด้าน คือ ด้านการตัดสินใจ ด้านการดำเนินงาน ด้านการร่วมรับผลประโยชน์ และด้านการประเมินผล
2. ผลจากการประเมินความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนบ้านบะแค สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า การนำรูปแบบการมีส่วนร่วมด้านการตัดสินใจไปปฏิบัติอยู่ในระดับดีมาก ส่วนด้านที่เหลือมีความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบไปปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านการตัดสินใจ รองลงมา ด้านการรับผลประโยชน์ ด้านการดำเนินงานและด้านการประเมินผล ตามลำดับ
รูปแบบการบริหารสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วมที่ค้นพบนี้ สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ตามวัตถุประสงค์เพราะทำให้ผู้บริหาร ครูและบุคลากร ผู้เรียน ผู้ปกครอง ชุมชน เกิดการพัฒนาความรู้ ความคิด มีความตระหนักต่อความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของตน โดยเฉพาะนักเรียนมีการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม เป็นคนมีเหตุผล รู้จักไตร่ตรองใคร่ครวญ มีความขยัน อดทน ประหยัด รับผิดชอบต่อการเรียนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง ก่อนและหลังดำเนินการพัฒนา มีการพัฒนา “คน” ให้เข้าใจในความพอเพียง มีปัญญา กล้าหาญ ยืนหยัดในการ “พึ่งตนเองอย่างพอเพียง” ปฏิบัติกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบ เอาใจใส่ดูแล มีการติดตามผล ประเมินผลและเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้