ผลงานวิชาการ
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง อาหารและโภชนาการ
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสาวจินตนา ศุภกรธนสาร
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการ สำหรับการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง อาหารและโภชนาการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง อาหารและโภชนาการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เปรียบเทียบทักษะการปฏิบัติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ 4) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ 5) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ได้แก่ ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี จำนวน 6 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 6 คน เลือกแบบเจาะจง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติ ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/3 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน 1 ห้อง มีจำนวน 33 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน 35 คน จำนวน 1 ห้องเรียน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสอบถามปัญหาและความต้องการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติ 2) แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการปฏิบัติของนักเรียน 3) แบบสัมภาษณ์นักเรียนเกี่ยวกับความต้องการในการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติ 4) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ จำนวน 7 แผน รวมเวลา 14 ชั่วโมง 5) แบบประเมินทักษะการปฏิบัติ 6) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 7) แบบวัดความพึงพอใจ และ 8) คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ พบว่า 1) นักเรียนควรได้ฝึกทักษะการปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น 2) นักเรียนที่เรียนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยียังต้องการฝึกทักษะการปฏิบัติแบบกลุ่ม และต้องการเรียนรู้ทักษะการปฏิบัติที่น่าสนใจ 3) นักเรียนต้องการฝึกปฏิบัติเพื่อให้มีทักษะการปฏิบัติเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าการมีทักษะการปฏิบัติที่ดีจะส่งผลให้มีความมั่นใจมากขึ้น 4) ผลการประเมินแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ระดับมากที่สุด
2. ผลการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง อาหารและโภชนาการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.56/84.25 ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง อาหารและโภชนาการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีทักษะการปฏิบัติหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง อาหารและโภชนาการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการปฏิบัติตามแนวคิดของเดวีส์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง อาหารและโภชนาการ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก