การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน
การวิจัยเรื่อง การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนบ้านหินขัน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ เป็นการวิจัย เชิงปฏิบัติการ (Action Research) วัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาบุคลากรโรงเรียนบ้านหินขัน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถทำการวิจัยในชั้นเรียนได้ 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลัก ระหว่างปีการศึกษา 2557 กับปีการศึกษา 2558 กลุ่มผู้ร่วมศึกษาและผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ผู้ศึกษาและครูผู้ร่วมศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 7 คน เครื่องมือ ที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มี 4 ประเภท คือ 1) แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 2) แบบสังเกตแบบมีส่วนร่วม 3) แบบบันทึกการประชุม 4) แบบประเมิน กลยุทธ์ในการพัฒนาครูเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน 1) การประชุมเชิงปฏิบัติการ 2) การนิเทศ วิธีการดำเนินการศึกษา ประกอบด้วย ขั้นตอน 4 ขั้นตอน (PAOR) ตามแนวคิดของ Kemmis และ McTaggart (1988 : 110) เป็นกระบวนการ ใน การวิจัย จำนวน 2 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วยการวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 โดยดำเนินการ 2 วงรอบ ดังนี้ วงรอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 วงรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการศึกษา พบว่า
การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนบ้านหินขัน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบการพัฒนา 5 ขั้นตอน โดยสภาพปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนก่อน การพัฒนา พบว่าบุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่สามารถดำเนินการการวิจัยในชั้นเรียนได้ด้วยตนเอง การจัดการเรียนการสอนหรือการแก้ปัญหาการเรียนการสอนยังเป็นแบบเดิม ไม่มีกลวิธีที่หลากหลายไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามระเบียบวิธีวิจัย เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนานักเรียนและคุณภาพการเรียนการสอนส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ ในสาระวิชาหลัก ผู้ศึกษาและผู้ร่วมศึกษาจึงตกลงร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการจัดประชุม เชิงปฏิบัติการ การทำวิจัยในชั้นเรียน และการนิเทศการวิจัยในชั้นเรียน และการนิเทศการวิจัย ในชั้นเรียน 5 ขั้นตอน ซึ่งนำผลการพัฒนามาสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศ พบว่า บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจและความสามารถเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนตามกระบวนการ 5 ขั้นตอนของกรมวิชาการได้ดี ในขั้นตอนที่ 1 การสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาและขั้นตอนที่ 2 การกำหนดวิธีการในการแก้ปัญหา ส่วนในขั้นตอน ที่ 3 การพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาหรือนวัตกรรม ขั้นตอนที่ 4 การนำวิธีการและนวัตกรรมไปใช้ และขั้นตอนที่ 5 สรุปผลและเขียนรายงานการวิจัยขาดความสมบูรณ์ ผู้ร่วมศึกษาได้เสนอแนะ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ว่าควรใช้เวลาในการประชุมมากกว่านี้ ผู้ร่วมประชุมจะได้มีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียนได้ดียิ่งขึ้น และผู้ร่วมศึกษาให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าควรมีเอกสาร ทฤษฎี วารสาร ผลงานวิจัย หรือตัวอย่างงานวิจัยให้เพียงพอจะได้ศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจ จนสามารถหาวิธีการ สร้างวิธีการ และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่านี้ สำหรับการนิเทศภายในเพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือ แนะนำในการฝึกปฏิบัติงานวิจัยในชั้นเรียนนั้น ผู้ร่วมศึกษาให้ความคิดเห็นว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่ผู้ร่วมศึกษาบางคนยังมีความเกรงใจไม่กล้าซักถามเท่าที่ควร ทำให้ผลงานออกมาไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ประกอบกับผู้ร่วมศึกษามีภาระงานค่อนข้างมาก ระยะเวลาในการทำวิจัยในครั้งนี้มีน้อย และเป็นการทำวิจัยครั้งแรก ผู้ร่วมศึกษาจึงตกลงร่วมกัน ที่จะให้มีการพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การประชุมกลุ่มย่อย และการเยี่ยมชั้นเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานวิจัยของตนจะทำให้งานวิจัยมีคุณภาพยิ่งขึ้น
2. การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียนวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การประชุม กลุ่มย่อย พบว่า ผู้ร่วมศึกษามีความรู้ความเข้าใจ และสามารถดำเนินการวิจัยในชั้นเรียน ตามกระบวนการ 5 ขั้นตอน ของกรมวิชาการได้สมบูรณ์ครบถ้วนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สามารถแก้ปัญหาการเรียนของนักเรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผลพัฒนาการตาม กรอบการศึกษาค้นคว้าสรุปได้ดังนี้
2.1 ขั้นตอนที่ 1 การสำรวจและวิเคราะห์ปัญหา พบว่าผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า มีความรู้ความเข้าใจ สามารถสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับครูนักเรียนและกระบวนการจัด การเรียนการสอน สามารถกำหนดปัญหาได้อย่างหลากหลายจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เลือกปัญหาที่ควรพัฒนาหรือแก้ไขมากที่สุด มาวิเคราะห์หาสาเหตุแนวทางในการแก้ปัญหาโดยอาศัยประสบการณ์มาตั้งชื่อเรื่อง ตลอดจนสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัยได้ทุกคน
2.2 ขั้นตอนที่ 2 กำหนดวิธีการและนวัตกรรมในการแก้ปัญหา พบว่า ผู้ศึกษาค้นคว้ามีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถกำหนดวิธีการแก้ปัญหาหรือนวัตกรรม กำหนดขอบข่ายการทำวิจัย ผลที่คาดว่าจะได้รับ สอดคล้องเหมาะสมกับปัญหา เพราะได้รับความรู้ความเข้าใจและฝึกปฏิบัติตามใบงาน จากวิทยากร และได้รับการนิเทศภายในจากผู้ศึกษาค้นคว้าและผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาการวิจัยในชั้นเรียน ทำให้ผู้ร่วมศึกษากำหนดวิธีการ สร้างนวัตกรรมกำหนดขอบข่ายเนื้อหา กรอบวิธีการ ประโยชน์ของการทำวิจัยได้ แต่ส่วนมาก นวัตกรรมจะเป็นประเภทแบบฝึกมากกว่านวัตกรรมประเภทรูปแบบและเทคนิคการสอน
2.3 ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาวิธีการหรือนวัตกรรม หลังการใช้กลยุทธ์ประชุม เชิงปฏิบัติการ พบว่า ผู้ร่วมศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ ขั้นตอนและวิธีการ แต่ยังไม่สามารถสร้างนวัตกรรม และเครื่องมือได้ เนื่องจากเวลามีจำกัด แต่หลังจากการให้กลยุทธ์การนิเทศภายใน บุคลากร สามารถสร้างนวัตกรรม เครื่องมือได้ทุกคน แต่ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนจึงได้ดำเนินการ ในวงรอบที่ 2 โดยใช้การประชุมกลุ่มย่อย เพื่อให้บุคลากรมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ และนำเสนอผลงานของตนเอง ทำให้รู้ข้อบกพร่องของผลงานของตนเอง และสามารถแก้ไข ปรับปรุงผลงานของตนเองให้สมบูรณ์ครบถ้วนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการประชุมกลุ่มย่อยพบว่าบุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจ จาการวิพากษ์ วิจารณ์ ผลงานซึ่งกันและกันและสามารถดำเนินการสร้าง หาคุณภาพ พัฒนานวัตกรรม และสร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลสอดคล้องกับปัญหาการวิจัย รู้วิธีการและขั้นตอนการสร้างเครื่องมือ นำเครื่องมือไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ปรับปรุงแก้ไข ตามคำแนะนำแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนร่วมงาน และมีเจตคติที่ดีต่อ การทำวิจัยในชั้นเรียน มีความมั่นใจมากขึ้น แต่นวัตกรรมที่นำมาแก้ปัญหายังขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่มาจากผู้วิจัยเอง เพราะเป็นการนำแบบฝึกที่มีผู้ศึกษาค้นคว้าไว้แล้วมาใช้แก้ปัญหา
2.4 ขั้นตอนที่ 4 การนำวิธีการหรือนวัตกรรมไปใช้ หลังการใช้กลยุทธ์ประชุมเชิงปฏิบัติการผู้ร่วมศึกษามีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนและวิธีการการนำไปใช้ แต่หลังจากการใช้กลยุทธ์การนิเทศเพื่อพัฒนาการทำวิจัยในชั้นเรียนนั้น พบว่าผู้ร่วมศึกษายังขาดทักษะในการสังเกต สัมภาษณ์ ยังไม่เป็นระบบ ไม่เป็นหมวดหมู่ ไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการใช้นวัตกรรมมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ผล แปลผล และอภิปรายผลได้ ในวงรอบที่ 2 ใช้การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อวิจารณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานวิจัย พบว่า บุคลากรมีความมั่นใจและเชื่อมั่นในนวัตกรรมที่ตนสร้างขึ้น สามารถนำวิธีการหรือนวัตกรรมไปพัฒนาและแก้ปัญหาในชั้นเรียนและเก็บรวบรวมข้อมูลโดยเครื่องมือต่างๆ ที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
2.5 ขั้นตอนที่ 5 การสรุปผลและเขียนรายงาน หลังจากการใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการนิเทศ ในวงรอบที่ 1 พบว่า บุคลากรสามารถนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์แปลผล สรุปผล และใช้ข้อเสนอแนะได้ทุกคน แต่ในขั้นตอนการเขียนรายงานการเขียนวิจัยยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเวลามีน้อยไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ในวงรอบที่ 2 ผู้ร่วมศึกษาได้ใช้กลยุทธ์การประชุมกลุ่มย่อย พบว่า การเขียนรายงานการวิจัยของบุคลากรทุกคนได้รับการปรับปรุงให้สมบูรณ์ถูกต้องครบถ้วนตามลำดับ คือ บทนำ แนวคิดที่สำคัญของการวิจัย วิธีการดำเนินการ การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลความหมาย การสรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ มากยิ่งขึ้น
3. จากการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลัก เมื่อเปรียบเทียบ ปีการศึกษา 2558 กับปีการศึกษา 2557 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปีการศึกษา 2558 สูงกว่าปีการศึกษา 2557 ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลักและวิชาอื่นๆ โดยที่กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์, ภาษาไทย, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, คณิตศาสตร์, ภาษาต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 80.00, 79.33, 79.33, 77.17, 71.33 ตามลำดับ ในขณะที่ปีการศึกษา 2557 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, ภาษาไทย, คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ยร้อยละ 78.97, 78.44, 78.04, 76.37, 71.33 ตามลำดับ เมื่อพิจารณา ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลักพบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีค่าร้อยละที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดร้อยละ 1.30 รองลงมา คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.03 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.90 กลุ่ม สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.80 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.37 ตามลำดับ