การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอ่านและเขียนเชิงสร้างสรรค์
ผู้วิจัย : วิยะดา ทองขุนดำ
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC เป็นวิธีการสอนที่บูรณาการด้านการอ่านและการเขียนเชิงสร้างสรรค์โดยใช้กระบวนการกลุ่ม ผู้วิจัยได้สังเคราะห์รูปแบบการเรียนเป็น PLGBR MODEL โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอ่านและเขียนเชิงสร้างสรรค์ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC (PLGBR MODEL) 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนอ่านและเขียนเชิงสร้างสรรค์ 3) เพื่อทดลองใช้และหาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนอ่านและเขียนเชิงสร้างสรรค์ ตัวอย่างวิจัยคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาลเขาชัยสน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบวัดความสามารถในการอ่านและเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงพัฒนา แบบแผนการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental design) การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าเฉลี่ย (x-bar) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) และการทดสอบค่าที (t-test independent)
ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย หลักการ เนื้อหา วัตถุประสงค์ ขั้นตอนการจัดการเรียนการสอน แนวทางการวัดและประเมินผล และเงื่อนไขในการจัดการเรียนการสอน 2) รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มี 5 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นเตรียมความพร้อม (Preparing) 2.ขั้นน้อมรับคำสอน (Learning) 3.ขั้นกิจกรรมกลุ่ม (Group activity) 4.ขั้นระดมสมอง (Brainstorm) 5.ขั้นตรวจสอบต่างมุมมอง (Review) 3) ประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า ผู้เรียนกลุ่มตัวอย่าง มีความสามารถในการอ่านเชิงสร้างสรรค์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ พบว่า ผู้เรียนมีความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
คำสำคัญ : การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค CIRC รูปแบบการเรียนการสอนอ่านและเขียนเชิงสร้างสรรค์