รูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครู
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีวิธีดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ 1) การศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการการนิเทศการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 โดยสอบถามความต้องการของผู้บริหาร จำนวน 39 คน และครูผู้สอน จำนวน 350 คน 2) การสร้างรูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 โดยตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบโดยกระบวนการอิงผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน 3) การทดลองใช้รูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 เป็นโรงเรียนทดลองใช้รูปแบบ จำนวน 1 โรงเรียน และ 4) การประเมินรูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัด การเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 โดยผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 4 คน ครูผู้สอน จำนวน 58 คน ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่สมัครเป็นกลุ่มตัวอย่างในการใช้รูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ และความถูกต้อง และสอบถามนักเรียน จำนวน 120 คน โดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21
ผลการวิจัย พบว่า
1) สภาพปัจจุบันและความต้องการการนิเทศการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 พบว่า 1.1) สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร และจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร อยู่ในระดับมาก ส่วนการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน การบูรณาการ กิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลการเรียนการสอน อยู่ในระดับปานกลาง 1.2) ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในสถานศึกษาขาดความรู้ ความเข้าใจ ในการบูรณาการ กิจกรรมการเรียนรู้ การออกแบบกิจกรรม การผลิตสื่อ นวัตกรรม การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลการเรียนการสอน ขาดกระบวนการนิเทศ ติดตามการจัดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง เครื่องมือการนิเทศไม่ความหลากหลาย รูปแบบและแนวทางในการปฏิบัติไม่เป็นระบบ ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความตระหนัก และความชัดเจนในการปฏิบัติ
2) รูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 คือ 4ETA ประกอบด้วยประเด็นหลัก 3 ด้าน และประเด็นย่อย 12 ประเด็น ดังนี้ 1) 4E มี 4 ประเด็น คือ E1 : Empowerment (พลังอำนาจ), E2 : Emotion (อารมณ์ จิตใจ), E3 : Efficiency (ประสิทธิภาพ), E4 : Evaluation (ประเมินผล) 2) 4T มี 4 ประเด็น คือ T1 : Team (เครือข่ายการศึกษา), T2 : Teach (จัดกระบวนการเรียนรู้), T3 : Time (เวลา), T4 : Task (ภาระงาน) และ 3) 4A มี 4 ประเด็น คือ A1 : Awareness (สร้างความตระหนัก), A2 : Alert (ตื่นตัวเตรียมพร้อม), A3 : Apply (ประยุกต์ใช้), A4 : Achievement (คุณภาพผู้เรียน)
3) รูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 เมื่อนำไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนสามารถปฏิบัติตามรูปแบบที่กำหนดไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีความพึงพอใจในระดับมาก
4) ผลการประเมินรูปแบบการนิเทศเสริมพลังอำนาจครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 ที่พัฒนาขึ้นมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์และความถูกต้อง อยู่ในระดับมาก และความพึงพอใจต่อการเรียนรู้บูรณาการ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน อยู่ในระดับมาก