รายงานผลการใช้แบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS เรื่องปัญหาดินถล่ม
การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อคือ 1)เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS เรื่องปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ 3) เพื่อศึกษาผลการปฏิบัติการใช้ซอฟต์แวร์ Basic GAPS ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS ปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 91 คน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชุมนุมคอมพิวเตอร์จำนวน 5 คนซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบเจาะจง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย1) แบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS หน่วยการเรียนรู้เรื่องปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ มีประสิทธิภาพ E1 และ E2 เท่ากับ 80.39 และ 80.20 ตามลำดับและดัชนีค่าประสิทธิผล (EI) ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน แหล่งเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS ดังกล่าวเกิดขึ้นกับนักเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 2) แบบประเมินคุณภาพแบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS เรื่องปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการใช้ทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS เรื่องปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ชนิด 4 ตัวเลือกจำนวน 30 ข้อ 4) แบบประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การวิจัยครั้งนี้ใช้ระยะเวลา ในการศึกษา 6 เดือน ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงบรรยายได้แก่ ร้อยละ(%) ค่าเฉลี่ย(µ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(ó)และวิเคราะห์ค่าดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness index : EI ) ผลการวิจัย พบว่า
1. แบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS เรื่อง ปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 80.39/80.20ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPS เรื่อง ปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา)มีคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนเท่ากับ 11.59 คิดเป็นร้อยละ 38.63 และคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 24.06 คิดเป็นร้อยละ 80.20 โดยมีค่าดัชนีประสิทธิผลความก้าวหน้าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 68
3. ผลการปฏิบัติการการใช้ซอฟต์แวร์ Basic GAPS สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา)มีผลการประเมิน ร้อยละ 76.47
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะซอฟต์แวร์ Basic GAPSเรื่อง ปัญหาดินถล่มของจังหวัดเพชรบูรณ์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) พบว่าโดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (µ = 4.52 ,ó = 0.19)