ผลการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) เรื่อง สมร
อุดม ศรีเจริญ
เทศบาล ๕ (บ้านตลาดเก่า) เทศบาลนครยะลา
2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพลศึกษาของนักเรียน ระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT)
2) เปรียบเทียบสมรรถภาพทางกายของนักเรียน ระหว่างก่อนและหลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) 3) เปรียบเทียบสมรรถภาพทางกายของนักเรียนที่ได้รับการจัด การเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) กับเกณฑ์การทดสอบสมรรถภาพทางกายที่โรงเรียนกำหนดให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ80 ของนักเรียนทั้งหมด มีผลการประเมินสมรรถภาพทางกายตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป และ 4) ศึกษาเจตคติต่อพลศึกษาของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) กลุ่มตัวอย่างเป็น นักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3/2 โรงเรียนเทศบาล ๕(บ้านตลาดเก่า) เทศบาลนครยะลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 27 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มกลุ่ม(Cluster Random Sampling) โดยการใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม (Sampling Unit) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัด การเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) เรื่อง สมรรถภาพทางกาย 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพลศึกษา 3) แบบทดสอบสมรรถภาพทางกาย จำนวน 5 รายการ ได้แก่ (1) ยืนกระโดดไกล (2) ลุกนั่ง 30 วินาที (3) ดันพื้น 30 วินาที (4) วิ่งเก็บของ (5) วิ่ง 50 เมตร และ 4)แบบประเมินเจตคติต่อพลศึกษาของนักเรียน เก็บรวบรวมข้อมูลจากการทดลองใช้แผนการจัด การเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที(t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพลศึกษาของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) สูงกว่าก่อนได้รับการจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สมรรถภาพทางกายของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) สูงกว่าก่อนได้รับการจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และผ่านเกณฑ์การทดสอบสมรรถภาพทางกายที่โรงเรียนกำหนดให้มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ80 ของนักเรียนทั้งหมดมีผลการประเมินสมรรถภาพทางกายตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป ดังนี้ ยืนกระโดดไกล จำนวน 25 คน คิดเป็นร้อยละ 92.59 ลุก-นั่ง 30 วินาที จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 96.30 ดันพื้น 30 วินาที จำนวน 24 คน คิดเป็นร้อยละ 88.89 วิ่งเก็บของ จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 100.00 วิ่ง 50 เมตร จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 85.19 และเจตคติต่อพลศึกษาของนักเรียนหลังได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT) อยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ : การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบกลุ่มเกมแข่งขัน(TGT)
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพลศึกษา สมรรถภาพทางกาย เจตคติต่อพลศึกษา