การบริหารสถานศึกษาโดยใช้หลัก KHOSILA Model
อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 2
โดย นายยศกร ภัทรธนาพรรณ
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคชศิลา
บทคัดย่อ
การพัฒนาการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ โดยใช้หลัก KHOSILA Model ของโรงเรียนบ้านคชศิลา ตำบลบาละ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษา และเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม ให้ทราบถึงรูปแบบการบริหารสถานศึกษา ปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการปฏิบัติ
ระยะเวลาดำเนินงาน ในช่วงปีงบประมาณ 2562-2563 (มีนาคม 2562-มีนาคม 2563) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน ประกอบด้วยแบบสอบถาม สัมภาษณ์ แบบติดตามประเมินผล และแบบรายงานผลการปฏิบัติงาน เพื่อที่จะได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง
วัตถุประสงค์
1 เพื่อส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษา
2 เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม
เป้าหมาย
ด้านปริมาณ
1 ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษาในระดับมากขึ้นไป
2 ผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์สูงขึ้น ร้อยละ๔
3 ผู้ปกครองไว้วางใจ นำบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียนในปีการศึกษา 2562 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10
ด้านคุณภาพ
โรงเรียนมีรูปแบบการบริหารสถานศึกษาที่ดี คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง ชุมชน มีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษา ผู้เรียนมีคุณภาพ ผู้ปกครองไว้วางใจในการบริหารสถานศึกษาส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนที่โรงเรียนบ้านคชศิลาเพิ่มขึ้น
วิธีการดำเนินการ
การบริหารโรงเรียนโรงเรียนบ้านคชศิลาโดยใช้หลัก KHOSILA Model มีหลักการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ
1. SWOT Analysis เป็นการสำรวจและวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน ปัญหา ความต้องการเกี่ยวกับการบริหาร จัดการด้านต่าง ๆ ของโรงเรียน
2. หลักการพัฒนาตามวงจรคุณภาพ PDCA โดย
P คือ Plan (วางแผน)
D คือ Do (ปฏิบัติ) ซึ่งในขั้นตอนนี้จะนำหลัก KHOSILA Model เข้ามาปฏิบัตร่วมด้วยได้แก่
K : Knowledge Management คือ การจัดการความรู้โดยการรวบรวม จัดเรียงหรือสร้างองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ทั้งในตัวบุคคลและเอกสาร เพื่อให้คนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และนำมาพัฒนาตนเองรวมถึงพัฒนาองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทุกด้าน
H : Human Resources คือ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ โดยนำมาวิเคราะห์ทั้งจุดเด่น จุดด้อย ความต้องการและความถนัด เพื่อนำเอาศักยภาพในตัวของกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารเข้ามาพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มากที่สุด โดยการเลือกบุคคลให้เหมาะกับงาน (Put the right man on the right job) เน้นการพัฒนาศักยภาพของคนให้สามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามความรู้ ความสามารถ มีการทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเอง
O : Organizing คือ การจัดการที่ดี มีการจัดระเบียบองค์กรอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้างการบริหารงานที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดีตามเป้าหมายองค์กร
S : Sufficiency Economy คือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินชีวิต
I : Identity คือ ความมีลักษณะเฉพาะตัวในเรื่องของโรงเรียนวิถีธรรม โดยโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการหลักธรรมตามศาสนาที่ตนเองนับถือที่เน้นการปฏิบัติจริง
L : Leadership คือ ผู้บริหารจะต้องมีภาวะผู้นำ สามารถนำพาองค์กรไปสู่อนาคตอย่างมีเป้าหมาย ทันต่อสถานการณ์โลก
A : Achievement Motivation คือ การบริหารงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานตามกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายได้รับมอบหมาย
C คือ Check (ตรวจสอบ)
A คือ Action (ดำเนินการแก้ไข)
3. หลักการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม
ผลการดำเนินงานพบว่า
1. ผลการดำเนินการส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารสถานศึกษา มีดังนี้
ครูจำนวน 10 คน มีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนบ้านคชศิลา ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ("x" ̅) เท่ากับ 4.26 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 0.83 เป็นไปตามเป้าหมาย
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านคชศิลาจำนวน 10 คนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนบ้านคชศิลาอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ("x" ̅) เท่ากับ 3.99 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 1.19 เป็นไปตามเป้าหมาย
ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 40 คนมีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนบ้านคชศิลาอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ("x" ̅) เท่ากับ 3.59 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 1.13 เป็นไปตามเป้าหมาย
บุคคลอื่น ๆ (ตำรวจ,ทหาร,เจ้าที่อำเภอ, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, โต๊ะบิหลั่น,พระภิกษุ และ ครูในกลุ่มเครือข่าย) จำนวน 10 คน มีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนบ้านคชศิลาอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ย ("x" ̅) เท่ากับ 3.84 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 1.11 เป็นไปตามเป้าหมาย
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักเรียนพัฒนาศักยภาพ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม มีดังนี้
ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนบ้านคชศิลา ปีการศึกษา 2562 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 72.71 สูงกว่าปีการศึกษา 2561 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 68.56 อยู่ร้อยละ 4.15 เป็นไปตามเป้าหมาย
ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2562 มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ระดับดีขึ้นไปเฉลี่ยร้อยละ 100.00 ซึ่งสูงกว่าในปีการศึกษา 2561 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 95.73 เป็นไปตามเป้าหมาย
ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2562 มีสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนระดับผ่านขึ้นไปเฉลี่ยร้อยละ 88.56 ซึ่งสูงกว่าในปีการศึกษา 2561 ที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 83.34 เป็นไปตามเป้าหมาย
ผู้เรียนกล้าแสดงความสามารถโดยเข้าแข่งขันได้รับรางวัลจากการแข่งขันในเวทีต่าง ๆ ได้แก่ ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง 2 กิจกรรม , เหรียญเงิน 1 กิจกรรม , เหรียญทองแดง 1 กิจกรรม และเข้าร่วม 2 กิจกรรม จากงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่ ปีการศึกษา 2562 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ยะลา 2 และได้รางวัลชนะเลิศ 1 กิจกรรม และรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3 กิจกรรมจากโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาลในสถานศึกษา เฉลิมพระเกียรติเทิดไท้องค์ราชัน กิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษา
มีนักเรียนได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิวิภาวดีรังสิตจำนวน 2 คน
ผู้ปกครองไว้วางใจในการบริหารสถานศึกษาส่งบุตรหลานเข้ามารับเรียนในโรงเรียนเพิ่มขึ้น โดยปีการศึกษา 2562 มีผู้เรียนจำนวน 106 คน (ข้อมูล 10 พฤศจิกายน 2562) สูงกว่าในปีการศึกษา 2561 ที่มีผู้เรียนจำนวน 88 คน (ข้อมูล 10 พฤศจิกายน 2561) จำนวนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 20.45 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ข้อเสนอแนะและแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
1. ควรพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและอื่น ๆ ในด้านการมีส่วนร่วมในระดับน้อย ให้มีระดับการมีส่วนร่วมที่สูงขึ้น
2. ควรให้ผู้บริหารสถานศึกษา กำชับและติดตามการปฏิบัติงานตามโครงการต่าง ๆ โดยกระบวนการ PDCA เพื่อเป็นการปรับปรุงพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ให้แก่ผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ
3. ควรมีการเสริมแรงผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ร่วมงานโดยการให้ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานควบคู่ไปด้วย