การเสริมสร้างความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียนโดยใช้กลยุทธ์
THALANG MODEL โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ปีการศึกษา 2561-2562
ชื่อผู้วิจัย : นายวัชรศักดิ์ สงค์ปาน
ปีการศึกษา : 2561-2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เสริมสร้างความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียนโดยใช้กลยุทธ์ THALANG MODEL โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ปีการศึกษา 2561-2562 2. เพื่อศึกษาคุณลักษณะความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียน โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 3. เพื่อศึกษาคุณภาพผู้เรียน โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายชุมชน ที่มีต่อการเสริมสร้างความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียนโดยใช้กลยุทธ์ THALANG MODEL โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ตหลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย นักเรียน ปีการศึกษา 2561 จำนวน 320 คน และปีการศึกษา 2562 จำนวน 320 คน ครู ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 80 คน ผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 320 คน คณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 13 คน และเครือข่ายชุมชน ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 27 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ มี 2 ลักษณะ ได้แก่ แบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 3 ฉบับ ทุกฉบับมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับได้ค่าความเชื่อมั่นระหว่าง .93-0.98 และแบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ระดับสถานศึกษา ปีการศึกษา 2561-2562 หลังการพัฒนา ตามสภาพจริง แบบบันทึกผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของนักเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 ตามสภาพจริง และแบบบันทึกผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 ตามสภาพจริง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS version 18
ผลการวิจัยพบว่า
1. ระดับคุณภาพการเสริมสร้างความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียนโดยใช้กลยุทธ์ THALANG MODEL โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต ปีการศึกษา 2561-2562 ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมทุกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพการปฏิบัติระดับมากและเมื่อพิจารณาจำแนกเป็นรายกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ =3.80, S.D.= 0.75) อยู่ในระดับมาก รองลงมาได้แก่ กลุ่มนักเรียน (x̄ =3.67, S.D.= 0.55) อยู่ในระดับมาก ส่วนกลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x̄ =3.61, S.D.= 0.65) อยู่ในระดับมาก เช่นกัน
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมทุกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพการปฏิบัติระดับมากที่สุดและเมื่อพิจารณาจำแนกเป็นรายกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ =4.61, S.D.= 0.51) อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มนักเรียน (x̄ =4.50, S.D.= 0.62) อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนกลุ่มครู และกลุ่มผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x̄ =4.54, S.D.= 0.47,0.64) อยู่ในระดับมากที่สุด เช่นกัน สอดคล้องตามสมมติฐาน
2. คุณลักษณะความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียนโดยใช้กลยุทธ์ THALANG MODEL โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 ตามความคิดเห็นของครู และผู้ปกครอง พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน อยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄=3.57, S.D.= 0.64) อยู่ในระดับมาก รองลงมาได้แก่ กลุ่มผู้ปกครอง (x̄ =3.64, S.D.= 0.67) อยู่ในระดับมาก เช่นกัน
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน อยู่ในระดับมาก และมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มผู้ประเมิน พบว่า กลุ่มผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ =4.53, S.D.= 0.65) อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มครู (x̄ =4.43, S.D.= 0.65) อยู่ในระดับมาก สอดคล้องตามสมมติฐาน
3. คุณภาพผู้เรียน จำแนกเป็น
3.1 ผลสัมฤทธิ์ระดับสถานศึกษา โรงเรียนถลาง จังหวัดภูเก็ต หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมค่าเฉลี่ย GPA เท่ากับ 2.88 เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับชั้น พบว่า ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีค่าเฉลี่ย GPA สูงสุด เท่ากับ 3.16 รองลงมาได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีค่าเฉลี่ย GPA เท่ากับ 3.02 ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเฉลี่ย GPA ต่ำสุด เท่ากับ 2.63
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมค่าเฉลี่ย GPA เท่ากับ 2.92 เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับชั้น พบว่า ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5มีค่าเฉลี่ย GPA สูงสุด เท่ากับ 3.15 รองลงมาได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีค่าเฉลี่ย GPA เท่ากับ 3.10 ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าเฉลี่ย GPA ต่ำสุด เท่ากับ 2.72 สอดคล้องตามสมมติฐาน
3.2 สมรรถนะสำคัญของนักเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมสมรรถนะสำคัญของนักเรียนทั้ง 5 สมรรถนะ อยู่ในระดับดีขึ้นไป มากกว่าร้อย 80 (ระหว่างร้อยละ 84.20-85.78)
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมสมรรถนะสำคัญของนักเรียนทั้ง 5 สมรรถนะ อยู่ในระดับดีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 85 (ระหว่างร้อยละ 87.73-88.44) สอดคล้องตามสมมติฐาน
3.3 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนทั้ง 8 ประการ อยู่ในระดับดีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 90 (ระหว่างร้อยละ 91.29-93.08)
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนทั้ง 8 ประการ อยู่ในระดับดีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 95 (ระหว่างร้อยละ 95.08-96.77) สอดคล้องตามสมมติฐาน
4. ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายชุมชน ที่มีต่อการเสริมสร้างความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียนโดยใช้กลยุทธ์ THALANG MODEL โรงเรียนเมืองถลาง จังหวัดภูเก็ต หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561-2562 พบว่า
ปีการศึกษา 2561 โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ย (x̄=3.77, S.D.= 0.27) อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มที่ประเมิน พบว่า กลุ่มครู มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄=3.95, S.D.= 0.29) อยู่ในระดับมาก รองลงมาได้แก่ กลุ่มนักเรียน (x̄=3.92, S.D.= 0.34) อยู่ในระดับมาก ส่วนกลุ่มเครือข่ายชุมชน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x̄ =3.55, S.D.= 0.41) อยู่ในระดับมากเช่นกัน
ปีการศึกษา 2562 โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีค่าเฉลี่ย (x̄ =4.66, S.D.= 0.18) อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มที่ประเมิน พบว่า กลุ่มนักเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x̄ =4.84, S.D.= 0.29) อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มครู (x̄ =4.66, S.D.= 0.25) อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนกลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (x̄ =4.58, S.D.= 0.32) อยู่ในระดับมากที่สุด เช่นกัน สอดคล้องตามสมมติฐาน
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1. ด้านการบริหารจัดการผู้บริหารควรสร้างองค์ความรู้ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรู้ และเข้าใจในการเสริมสร้างความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียน โดยใช้กลยุทธ์ THALANG MODEL เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายร่วมกัน เพื่อสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดี เกิดความตระหนักรู้ และร่วมลงมือปฏิบัติ และนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดได้
2. ด้านการพัฒนาครู ผู้บริหารควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ครู มีเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง มีการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ และประสานกิจกรรมในการพัฒนาตนเองของครู โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย และส่งเสริมให้ครูได้นำความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนาตนเองไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงกับนักเรียน และส่งเสริมให้มีการประเมินนักเรียนตามสภาพจริง และสร้างเครือข่ายการพัฒนาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนด อีกทั้งการส่งเสริมการเป็นแบบอย่างที่ดี ของครูให้ครอบคลุม “มารยาทดี มีวินัย ใส่ใจจิตอาสา” เพราะแบบอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน
3. ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ โรงเรียนควรส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาหน้าที่พลเมือง และนำไปสู่การเป็นพลโลก และในการจัดการเรียนรู้ ควรส่งเสริมให้ครูทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้นำเอาอัตลักษณ์ผู้เรียนของโรงเรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตร ไปบูรณาการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการตามแนวคิด STAR STEMS เป็นกิจกรรมตามจุดเน้นในการเสริมสร้างความเป็นคนดีตามอัตลักษณ์ผู้เรียนของโรงเรียนเมืองถลาง ได้อย่างยิ่ง (THALANG MODEL)
4. ด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพทางด้านศิลปะ ดนตรีไทย ดนตรีสากล นาฏศิลป์ วัฒนธรรมไทย กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเหล่านี้เป็นจุดเน้นการเสริมสร้างความเป็นคนดีของนักเรียนได้อย่างดียิ่ง เพราะเป็นการเรียนรู้คู่การปฏิบัติ เรียนรู้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ กิจกรรมเสริมหลักสูตรที่นักเรียนปฏิบัติโดยนักเรียน และเพื่อนำนักเรียน เช่น กิจกรรมรวมพลคนจิตอาสา กิจกรรมสภานักเรียน กิจกรรมบันทึกความดี และกิจกรรมนักเรียนแบบอย่างแห่งความดี จะช่วยซึมซับความเป็นคนดี สร้างคนดีให้กับสังคมได้อย่างดียิ่ง
5. ด้านสิ่งแวดล้อม ควรจัดสภาพแวดล้อมทางด้านจิตใจ โดยน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งที่ว่า “ครูรักเด็ก เด็กรักครู” ให้นักเรียนมีน้ำใจช่วยเหลือกัน นักเรียนมีความรู้ “รักสามัคคี” มาเป็นแนวทางปฏิบัติ และจัดบรรยากาศทุกพื้นที่ในโรงเรียนให้เป็นครูที่พูดไม่ได้ เพราะบรรยากาศเหล่านี้ จะช่วยกล่อมเกลาชีวิต จิตใจ ของนักเรียนให้มีความละเอียดอ่อน และเป็นคนดีได้
ข้อเสนอแนะในการการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาผลกระทบเชิงบวกของการเสริมสร้างความเป็นคนดีของนักเรียนที่ปรากฏต่อครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคมในเขตบริการของโรงเรียน
2. ควรมีการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างความเป็นคนดีของนักเรียนในรูปแบบ และหรือลักษณะอื่น ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างคนดีให้กับบ้านเมืองอย่างกว้างขวาง