การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
ผู้วิจัย เพ็ญวิภา สรรคชา โรงเรียนภูดินแดงวิทยา อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาสภาพ ปัญหา การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) ศึกษาชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยแบ่งการดำเนินการวิจัย เป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน โดยศึกษาสภาพ ปัญหา และแนวคิด ทฤษฎี กลุ่มตัวอย่างมี 2 กลุ่มคือ 1.1 ครูผู้สอนสังคมศึกษา จำนวน 6 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ คือแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง 1.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 118 คน ได้มาโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกน ค่าความเชื่อมั่น 95% (จากนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทั้งหมด จำนวน 173 คน) เครื่องมือที่ใช้คือทั้งแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและแบบสอบถาม การวิเคราะห์ ใช้แบบวิเคราะห์เนื้อหา ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระยะที่ 2 สร้างและหาคุณภาพชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 29 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยจับสลากซึ่งใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Unit of Analysis) เครื่องมือที่ใช้ คือ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิเคราะห์ ใช้แบบวิเคราะห์เนื้อหา แบบประเมินความเหมาะสม ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และแบบวัดผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน ระยะที่ 3 การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 29 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ คือ การทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ใช้สถิติค่าที (t-Test) แบบ Dependent Samples ระยะที่ 4 การประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 29 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยจับสลากซึ่งใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Unit of Analysis) เครื่องมือที่ใช้ คือแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ
ผลการวิจัยพบว่า
ระยะที่ 1 ผลศึกษาสภาพ ปัญหา การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
มี 2 ส่วนคือ 1.1 จากการสัมภาษณ์ครู 6 คน ที่สอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนภูดินแดงวิทยา พบว่า สภาพและปัญหาการสอนเศรษฐกิจพอเพียง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้แก่ 1) ด้านนักเรียน นักเรียนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย แนวคิดการปฏิบัติตนตามหลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังไม่เห็นคุณค่าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อการดำเนินชีวิตและการแก้ปัญหาสังคมในปัจจุบัน ยังไม่สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้นักเรียนยังไม่สามารถเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนอื่นรับรู้ได้ นักเรียนขาดการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ขาดกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง 2) ด้านครู ครูขาดความเข้าใจหลักสูตร การสอนมีลักษณะการให้ความรู้มากกว่าการส่งเสริมให้นักเรียนได้ ฝึกทักษะกระบวนการคิด ครูขาดเทคนิคการสอนที่เร้าใจ ขาดเครื่องมือในการวัดผลประเมินที่มีคุณภาพ ขาดสื่อ นวัตกรรมในการพัฒนาการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บรรยากาศไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ครูสอนแบบบรรยายหรือให้นักเรียนทำรายงานแต่ไม่ได้เป็นการนำเสนอ ขาดการทำงานเป็นกลุ่ม จึงทำให้นักเรียนไม่สนใจ ไม่เข้าใจบทเรียน และเบื่อหน่ายบทเรียน 3) ด้านกระบวนการเรียนรู้ ครูไม่ได้เน้นความสำคัญในการพัฒนากระบวนการเรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำได้ แต่เน้นเนื้อหาสาระทางความรู้ โดยใช้การท่องจำมากกว่าการฝึกปฏิบัติใช้กระบวนการเรียนรู้แบบเดิม ๆ เน้นการให้ความรู้แบบบรรยาย ขาดการทำงานเป็นกลุ่ม 4) ด้านเนื้อหา การกำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ครอบคลุมแนวคิด ความหมาย การปฏิบัติตนและหลักการสำคัญ และ 1.2 จากการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนภูดินแดงวิทยา จำนวน 118 คน พบว่า สภาพในปัจจุบันการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน ( มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.89 SD. = 0.24) เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย คือ ด้านความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.99, SD. = 0.29) ด้านด้านกระบวนการเรียนรู้ ( มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.79, SD. = 0.19) ส่วนปัญหาการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning โดยรวมและรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุดและระดับมาก (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.06, SD. = 0.33) เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย คือ ด้านกระบวนการเรียนรู้ (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.25, SD. = 0.24) และด้านความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.86, SD. = 0.41) ตามลำดับ ระยะที่ 2 พบว่า ชุดกิจกรรมและคู่มือสำหรับครูการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.08 /90.03 ระยะที่ 3 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยหลังเรียนมีค่าเท่ากับ (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 51.48, SD = 2.33) ก่อนเรียนมีค่าเท่ากับ ( มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 24.52, SD = 2.05) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ระยะที่ 4 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจหลังการเรียนวิชาสังคมศึกษา ด้วยการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นแบบ Active Learning
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อยู่ในระดับมากที่สุด (มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.54, SD = 0.31)