ผลการใช้ชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการ สาระการเรียนรู้สุขศึกษา
ผู้ศึกษา นายณัฐกิตติ์ ธีระอรรถสิทธิ์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
ผลการใช้ชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาล 3 ชุมชนวัดจันทราวาส ที่มีต่อการเรียนด้วย ชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนเทศบาล 3 ชุมชนวัดจันทราวาส สังกัด กองการศึกษา เทศบาลเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561จำนวน 1 ห้องเรียน รวม 36 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) ดำเนินการวิจัยโดยใช้รูปแบบวิจัยเชิงทดลองแบบกลุ่มทดลองกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังทดลอง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) ชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 6 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้ชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 14 แผน 14 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง อาหารและโภชนาการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งมีอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.28-0.74 ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ 0.97 และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการเรียนด้วยชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ ซึ่งมีอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.44-0.80 ค่าความเชื่อมั่น ของแบบทดสอบเท่ากับ 0.88 เครื่องมือทั้งหมดได้ผ่านการตรวจจากผู้เชี่ยวชาญและปรับปรุงแก้ไข เพื่อใช้เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานด้วย t-test (Dependent)
สรุปผลการศึกษา
1. ชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.46/84.89 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง อาหาร และโภชนา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยการใช้ชุดการเรียนรู้อาหารและโภชนาการ กลุ่มสาระ การเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยการใช้ชุดการเรียนรู้ อาหารและโภชนาการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด