การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ
ผู้ศึกษา นางสาวนันทพร บุญวาส ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
หน่วยงาน โรงเรียนวัดพรหมวิหาร
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาทางการศึกษา ผู้ศึกษาได้เคยทำการสอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที 5 ซึ่งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำจึงทำให้ผู้ศึกษาคิดอยากที่จะพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นโดยได้ศึกษารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบต่างๆ และเห็นว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะน่าจะเหมาะและช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 การศึกษาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80 / 80 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ 3) เพื่อเปรียบเทียบคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียน 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่เรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนวัดพรหมวิหาร สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยนาท จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผน 2) แบบฝึกเสริมทักษะ จำนวน 5 เล่ม 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก 40 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.24 ถึง 0.66 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.88 และ 4) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ชนิด 5 ระดับ จำนวน 18 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.35 ถึง 0.78 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานด้วย t – test (Dependent Samples) ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 89.43 / 84.64
2. ดัชนีประสิทธิของการจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีค่า 0.6311 แสดงว่า นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.11
3. นักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบ STAD ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป นักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (STAD) เรื่อง โจทย์ปัญหาการบวก ลบ คูณ หาร ระคน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ร่วมกับการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงขึ้นและนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์จึงควรนำไปศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้มากขึ้น