การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน
เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2
ผู้วิจัย นางณัชชารีย์ ป้านศรี
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 และ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ประชากรที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล ๑ วัดแก่นเหล็ก (รัตนกะลัสอนุสรณ์) ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบุรี จำนวนทั้งสิ้น 55 คน ได้แก่ ชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 จำนวน 28 คน และชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 จำนวน 27 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 โรงเรียนเทศบาล ๑ วัดแก่นเหล็ก (รัตนกะลัสอนุสรณ์) ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี สังกัดเทศบาลเมืองเพชรบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 27 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 25 แผน 2) แบบประเมินทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 15 ข้อ 3) แบบประเมินความพึงพอใจของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 1 ชุด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานค่าประสิทธิภาพ และวิเคราะห์ความแตกต่างโดยใช้ค่า t-test (Dependent Samples) ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ ประกอบด้วยทักษะที่หลากหลายและสภาพที่พึงประสงค์แตกต่างกัน
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า “Play way 4 Model” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เล่นปนเรียน ขั้นที่ 2 ขั้นนำเข้าสู่การจัดกิจกรรมการเล่นปนเรียน ขั้นที่ 3 ขั้นดำเนินการจัดกิจกรรมการเล่นปนเรียน และขั้นที่ 4 ขั้นสรุปและประเมินผลการเรียนรู้เล่นปนเรียน โดยรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน “Play way 4 Model” มีประสิทธิภาพ (E1/E1) เท่ากับ 81.78/82.35 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80 ซึ่งเป็นตามสมมติฐานข้อที่ 2
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 พบว่า เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2
มีทักษะการเรียนรู้คณิตศาสตร์ก่อนและหลังการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียนแตกต่างกัน โดยหลังการทดลองใช้รูปแบบสูงกว่าก่อนการทดลองใช้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นตามสมมติฐานข้อที่ 3
4. เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบเล่นปนเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 89.81 ซึ่งเป็นตามสมมติฐานข้อที่ 4