การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม
หลักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางประนอม ลายรัตน์
ปีที่ทำวิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม ที่พัฒนาขึ้น และ 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม ที่พัฒนาขึ้น เป็นการวิจัยและพัฒนา เก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถาม แบบทดสอบ เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสนทนากลุ่ม
การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาปัญหาและความต้องการพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนหลักภาษาไทย โดยการสอบถามด้วยแบบสอบถามจากครูภาษาไทยและครูวิชาการ จำนวน 10 คน สนทนากลุ่มครูสอนภาษาไทย จำนวน 6 คน ในโรงเรียนเทศบาล ๔ (เพาะชำ) ขั้นตอนที่ 2 สร้างและพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม โดยการศึกษาเอกสาร ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทดลองใช้กับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง และนำกระบวนการ Lesson study มาใช้เพื่อปรับปรุงรูปแบบกิจกรรม ขั้นตอนที่ 3 นำรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีมที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจัดทำเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบเรียน-เล่นเป็นทีม จำนวน 7 แผน ใช้เวลา 12 ชั่วโมง ไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 26 คน และขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม โดยการสอถามครูผู้ใช้รูปแบบกิจกรรมและผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 15 คน เป็นครูในโรงเรียนเทศบาล ๔ (เพาะชำ) จำนวน 10 คน และครูโรงเรียนอื่น จำนวน 5 คน สอบถามนักเรียนและสนทนากลุ่มนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม จำนวน 1 ห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามสภาพปัญหาและความต้องการพัฒนาการสอนหลักภาษาไทย การสนทนากลุ่มครู การสนทนากลุ่มนักเรียน แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบเรียน-เล่นเป็นทีม จำนวน 7 แผน แบบสังเกตชั้นเรียน แบบทดสอบวัดความเข้าใจหลักภาษาไทย แบบประเมินความพึงพอใจในการเรียน และแบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที แบบ dependent
t-test วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการสรุปประเด็น
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพปัญหาและความต้องการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ ครูมีความเห็นว่า ระดับความเข้าใจหลักภาษาไทยของนักเรียนอยู่ระดับปานกลาง ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น วิธีการสอนหลักภาษาไทยควรได้รับการปรับปรุง โดยรูปแบบที่เหมาะสมคือ การเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และให้นำเกมการศึกษามาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน
2) รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจหลักภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น เกิดจากการบูรณาการหลักการระหว่างการเรียนรู้แบบร่วมมือ การเรียนรู้เป็นทีม และการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่นและเกม (Learning through Play and Game) จัดลำดับกิจกรรมการเรียนรู้โดยผสมผสานขั้นตอนจากวิธีการของการเรียนแบบร่วมมือ จัดการเรียนรู้โดยแบ่งนักเรียนคละความสามารถเป็นทีม ทีมละ 4-5 คน รูปแบบกิจกรรมมี 5 องค์ประกอบ คือ หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ เนื้อหาการเรียนรู้ ขั้นตอนกิจกรรมการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผล โดยขั้นตอนกิจกรรมการเรียนรู้ มี 7 ขั้นตอน หรือ PIT-ACCT Model ประกอบด้วย 1) ขั้นเตรียม (Preparation: P) 2) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียนและการสอน (Introduction: I) 3) ขั้นศึกษาในทีม (Team Study: T) 4) ขั้นเล่นเกมเพื่อการเรียนรู้ (Academic Game: A) 5) ขั้นตรวจสอบผลจากการเล่นเกม (Check: C) 6) ขั้นสรุปเนื้อหา (Conclusion: C) และ 7) ขั้นทดสอบ (Test: T) นำรูปแบบกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นไปใช้โดยการสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม เพื่อพัฒนาความเข้าใจหลักภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 7 แผน ผลการตรวจสอบประสิทธิภาพ (E1/E2) ขั้นทดลองใช้ เท่ากับ 81.89/81.79
3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม มีคะแนนความเข้าใจ
หลักภาษาไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม มีประสิทธิภาพขั้นนำไปใช้จริง (E1/E2) เท่ากับ 83.13/82.05
4) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีม มีความพึงพอใจในการเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบเรียน-เล่นเป็นทีมโดยครูที่เกี่ยวข้อง มีความเหมาะสมระดับมากที่สุด