การพัฒนารูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย
ผู้วิจัย นางสายสุนีย์ สุระกุล ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) สังกัดสำนักการศึกษาเทศบาลนครตรัง
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 2) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 การวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R & D) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นเด็กนักเรียนชาย-หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561โรงเรียนเทศบาล 7 (วัดประสิทธิชัย) สำนักการศึกษาเทศบาลนครตรัง จำนวน 18 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling)เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) รูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 2) แผนการจัดประสบการณ์รูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 จำนวน 40 แผน ใช้จัดประสบการณ์แผนละ 30 นาที 3) หนังสือนิทานคำคล้องจอง จำนวน 10 เรื่อง 4) แบบ
ทดสอบวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การเล่านิทานคำคล้องจอง จำนวน 5 ฉบับ ฉบับละ 6 ข้อ รวม 30 ข้อ และ 5) แบบวัดความพึงพอใจของเด็กปฐมวัย ชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ที่มีต่อรูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 จำนวน 1 ชุด มี 10 รายการ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระการเรียนรู้ ทักษะกระบวนการ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน และหลักการตอบสนอง ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนมี 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นการให้ความรู้และสร้างความตระหนัก (Knowledge and Awareness: KA) ครูทบทวนประสบการณ์เดิมเชื่อมโยงกับสถานการณ์หรือเรื่องที่ต้องการเรียนรู้ใหม่ 2) ขั้นการสร้างเสริมความรู้ (Enhancement: E) นักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่ม สร้างองค์ความรู้ใหม่ 3) ขั้นการสร้างผลงาน (Construction: C) ใช้ทักษะกระบวนการกลุ่มหรือกระบวนการทางปัญญาสร้างผลงาน 4) ขั้นการนำเสนอผลงานและการประยุกต์ใช้ (Presentation and Application: PA) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมกันนำเสนอผลงาน และประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ 5) ขั้นการประเมินผลการเรียนรู้และการสะท้อนกลับ (Assessment and Reflection: AR) ผู้เรียนประเมินผลงานและสะท้อนความคิดเห็น เกี่ยวกับผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น และรูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.88/84.03 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กปฐมวัย ชั้นปฐมวัยปีที่ 3 หลังเรียนโดยใช้รูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของของเด็กปฐมวัย ชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ที่มีต่อรูปแบบการสอนแบบเน้นประสบการณ์ของเด็กปฐมวัย โดยใช้หนังสือนิทานคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ระดับชั้นปฐมวัยปีที่ 3 อยู่ในระดับมาก (x-bar= 2.93, S.D.= 0.20)