ผลการประเมินโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนื
ผู้รายงาน นายอนุวัฒน์ พรเหลืองชมภู
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ชำนาญการพิเศษ
รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ
ปีการศึกษา 2560
บทคัดย่อ
ผลการประเมินโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินความเหมาะสมของสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ 2) เพื่อประเมินความพร้อมของปัจจัยในการดำเนินโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ 3) เพื่อประเมินความเหมาะสมในการดำเนินการด้านกระบวนการของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ 4) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ 5) เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ 6) เพื่อนำผลเสนอแนวทางในการพัฒนาวินัยนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ โดยใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) 5 ด้าน กลุ่มตัวอย่างคือ ครู จำนวน 21 คน นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นปีที่ 1-3 จำนวน 158 คน และผู้ปกครอง จำนวน 158 คน (ตามจำนวนของนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 เลือกการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) โดยใช้วิธีการจับฉลากแบบไม่ใส่กลับคืน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ โดยใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) 5 ด้านพบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก การประเมินผ่านเกณฑ์ค่าเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป
ผลการประเมินความเหมาะสมของสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.53, S.D. = 0.21) ซึ่งผ่านการประเมิน พบว่า โรงเรียนมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาวินัยนักเรียนได้อย่างชัดเจน รองลงมาคือ หลักการและเหตุผลของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด และกิจกรรมของโครงการสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ สภาวะแวดล้อมของโรงเรียนมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการดำเนินโครงการ โครงการสามารถแก้ปัญหาวินัยนักเรียน สอดคล้องกับความต้องการของครู ผู้ปกครองและชุมชน และมีความเหมาะสมและมีความจำเป็นในการแก้ปัญหา
ผลการประเมินความพร้อมของปัจจัยในการดำเนินโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.18, S.D. = 0.18) ซึ่งผ่านการประเมิน พบว่า ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ รองลงมาคือ กิจกรรมในโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
ผลการประเมินความเหมาะสมในการดำเนินการด้านกระบวนการของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.27, S.D. = 0.23) ซึ่งผ่านการประเมิน พบว่า ครูปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน รองลงมาคือ โรงเรียนจัดกิจกรรม ยกย่องนักเรียนที่ไม่ขาดเรียนและร่วมกิจกรรมหน้าเสาธงทุกครั้ง จัดกิจกรรมวันสำคัญของชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ โดยนักเรียนมีส่วนร่วม โรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมนักเรียนที่มีความรับผิดชอบ จัดทำระเบียบข้อบังคับในการรักษาวินัยโดยให้นักเรียนมีส่วนร่วม
ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.34, S.D. = 0.14) ซึ่งผ่านการประเมิน พบว่า นักเรียนทำเวรรักษาความสะอาดห้องเรียนทุกวัน รองลงมาคือ นักเรียนแสดงกิริยาที่มีสัมมาคารวะ นักเรียนรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
ผลการประเมินผลกระทบของโครงการพัฒนาวินัยนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.34, S.D. = 0.14) ซึ่งผ่านการประเมิน พบว่า นักเรียนมีความซื่อสัตย์ สำนึกดี มีน้ำใจและมีความอดทนอดกลั้น รองลงมาคือ นักเรียนมีการทำงานร่วมกันจะรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
นำผลเสนอแนวทางในการพัฒนาวินัยนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลวัดไทรเหนือ โดยใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model) 5 ด้าน จากผลการประเมินมาจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) โดยผู้บริหาร ครูและผู้ปกครอง ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาสรุปแนวทางในการพัฒนา ด้านสภาวะแวดล้อมกำหนดนโยบายการพัฒนา ควรมีการวิเคราะห์สภาพปัญหา และความต้องการในการพัฒนาวินัยนักเรียน กำหนดนโยบายของโรงเรียน วางแผนปฏิบัติการ กำหนดคณะบุคคลผู้รับผิดชอบ มีการจัดทำแผนแม่บทและแผนรองรับ มีการกำกับติดตามตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงาน รายงานผลต่อผู้บริหารโรงเรียนเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ด้านความพร้อมของปัจจัยในการดำเนินโครงการ ควรมีการสอดแทรกความมีวินัยในตนเองในทุกรายวิชาเน้นการปฏิบัติของกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องมีการตัดคะแนนให้มีระเบียบแบบแผนจากการทำงานที่ครูกำหนดให้ ด้านความเหมาะสมในการดำเนินการด้านกระบวนการของโครงการควรมีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน ในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย การรักษาความสะอาด ด้านผลผลิตของโครงการการปฏิบัติเป็นแบบอย่างของครู และบุคลากรในโรงเรียน ครูและบุคลากรทุกคนต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี ควรมีการอบรมเกี่ยวกับจรรยาบรรณครูปีละ1 ครั้ง เพื่อเป็นการทบทวน กระตุ้นจิตสำนึกความรับผิดชอบในแบบอย่างของวิชาชีพครูที่ดีอยู่เสมอ ด้านผลกระทบของโครงการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ควรมีการจัดระเบียบวินัย สร้างความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ความรับผิดชอบการทำงานร่วมกันสร้างกระบวนการทำความดีไปในตัว เป็นการปลูกฝังจิตสำนึก สร้างเจตคติ ปรับพฤติกรรม กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดี มีระเบียบวินัย