การพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณโดยใช้วิธีการแบบเปิด
การใช้คำถามในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้ศึกษา นางอุษณีย์ ศิริสานต์
โรงเรียน เบญจมราชูทิศ
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการคิดอย่างมีวิจารณญาณในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนใช้วิธีการแบบเปิดร่วมกับเทคนิคการใช้คำถาม 2) ศึกษาการคิดอย่างมีวิจารณญาณในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังใช้วิธีการแบบเปิดร่วมกับเทคนิคการใช้คำถาม และ 3) ศึกษาการพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้วิธีการแบบเปิดร่วมกับเทคนิคการใช้คำถามในการจัดการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/11 โครงการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน เครื่องมือการวิจัยได้แก่ 1) แบบวัดการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนและหลังการใช้วิธีการแบบเปิดร่วมกับเทคนิคการใช้คำถาม 2) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการแบบเปิดร่วมกับเทคนิคการใช้คำถามเรื่องอัตราส่วนตรีโกณมิติจำนวน 4 แผนการจัดการเรียนรู้
ผลการวิจัยพบว่า 1) ก่อนการศึกษามีนักเรียนเพียง 1 คนที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณคิดเป็นร้อยละ 3.33 ของนักเรียนทั้งหมด โดยนักเรียนส่วนใหญ่ขาดองค์ประกอบของการคิดอย่างมีวิจารณญาณในด้านการให้เหตุผลแบบนิรนัย การให้เหตุผลแบบอุปนัย และการประเมินผล 2) หลังการศึกษามีนักเรียนจำนวน 10 คนที่มีการคิดอย่างมีวิจารณญาณคิดเป็นร้อยละ 33.33 ของนักเรียนทั้งหมด โดยนักเรียนส่วนใหญ่ขาดองค์ประกอบของการคิดอย่างมีวิจารณญาณในด้าน การให้เหตุผลแบบอุปนัย 3) การพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการแบบเปิดร่วมกับเทคนิคการใช้คำถาม พบว่า ขั้นการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาร่วมกับการใช้คำถามความเข้าใจจะช่วยพัฒนานักเรียนในด้านการนิยามปัญหาของนักเรียน ขั้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนร่วมกับการใช้คำถามการวิเคราะห์ช่วยพัฒนานักเรียนในด้านการรวบรวมข้อมูลที่น่าเชื่อถือและการให้เหตุผลแบบอุปนัยของนักเรียนและขั้นการอภิปรายร่วมกันทั้งชั้นเรียนร่วมกับการใช้คำถามการวิเคราะห์และขั้นการประเมินค่าร่วมกับการใช้คำถามสังเคราะห์และประเมินค่าจะช่วยพัฒนานักเรียนในด้านการให้เหตุผลแบบนิรนัยและการประเมินผล